กลายเป็นข่าวการค้นพบที่ถือว่าน่าสนใจเอามากๆ อีกชิ้นหนึ่งของวงการวิทยาศาสตร์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อล่าสุดนี้เองทีมนักบรรพชีวินวิทยา ได้มีการออกมาเปิดเผยการค้นพบราเมือกโบราณ อายุร่วม 100 ล้านปี ถูกเก็บรักษาไว้ในอำพันจากต้นไม้ที่พม่า
อ้างอิงจากรายงานการค้นพบ ราเมือกที่ถูกเก็บรักษาในอันพันชิ้นนี้ เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “Myxomycetes” โดยมันมักจะอาศัยอยู่ในดินหรือไม้เน่าเปื่อย มีอาหารหลักเป็นแบคทีเรีย และในบางครั้งก็อาจจะร่วมกลุ่มกัน เพื่อสร้างร่างกายที่ละเอียดอ่อนซึ่งทำหน้าที่สร้างและปล่อยสปอร์อย่างที่เห็นในภาพ
ราเมือกที่ว่านี้ ถูกค้นพบภายในอัมพัน ก้อนเดียวกับส่วนขาของกิ่งก่าโบราณ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า ราเมือกที่เห็นอาจจะถูกดึงออกมาจากเปลือกไม้โดยกิ่งก้าซึ่งในอดีตบังเอิญไปติดในยางไม้เข้า จนทำให้ทั้งคู่ถูกผนึกไว้พร้อมๆ กันไปก็เป็นได้
นี่นับว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญและมีคุณค่าเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านๆ มา นักวิทยาศาสตร์นั้นเคยพบราเมือกโบราณที่รวมตัวกันจนมีสภาพแบบนี้เพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น แถมราเมือกทั้งสองครั้งที่ถูกพบเองก็มีอายุแค่ 35-40 ล้านปีเสียด้วย
ดังนั้นการค้นพบราเมือกในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นการค้นพบราเมือกโบราณ (แบบที่มีการรวมตัวกัน) ที่เก่าแก่ที่สุดเลยก็ว่าได้
และความเก่าแก่ในจุดนี้เอง ก็อาจจะสามารถช่วยเหลือในการศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของราเมือก ซึ่งรวมไปถึงการหาราเมือกในปัจจุบันที่จัดเป็นจำพวกเดียวกับราในอดีตด้วย
“ฟอสซิลที่พบนี้ ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เหมือนใครเกี่ยวกับ ปรับตัวทางนิเวศวิทยาที่กินเวลามาอย่างยาวนานของสิ่งมีชีวิตแบบ Myxomycetes ได้เป็นอย่างดีเลย” คุณ Alexander Schmidt นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน (Göttingen) กล่าว
และในกรณีที่เพื่อนๆ สนใจอยากอ่านข้อมูลอย่างละเอียดของการค้นพบที่เกิดขึ้น รายงานการค้นพบในครั้งนี้ก็ได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสาร Scientific Reports เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น