มันเป็นเรื่องที่ผู้คนชอบพูดกันอยู่เสมอว่าคนในปัจจุบันใช้สินค้าในชีวิตประจำวันกันอย่างสิ้นเปลือง จากการที่เรามีสินค้า “ใช้แล้วทิ้ง” อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่างไปจากคนในอดีตที่สินค้าแทบทุกอย่างจะถูกนำไปใช้งานซ้ำ ครั้งแล้วครั้งเล่า
นี่อาจจะไม่ใช้คำพูดที่ผิดนัก แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่คำพูดที่ถูกต้องเสียทีเดียวเช่นกัน เพราะแม้ว่าในปัจจุบันมนุษย์เราจะมีการใช้สินค้าแบบใช้แล้วทิ้งอยู่มากจริงๆ แต่สินค้าประเภทนี้ ก็ไม่ได้เพิ่งจะมามีในปัจจุบันแต่อย่างไรเช่นกัน
นั่นเพราะภายในงานจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์อังกฤษ ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (และมีกำหนดการจะจัดไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020) เราก็ยังสามารถพบเห็นถ้วยดินเหนียวโบราณอายุกว่า 3,500 ปีอยู่ชิ้นหนึ่ง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ถ้วยใช้แล้วทิ้งที่เก่าแก่ที่สุด” เท่าที่มนุษย์เคยพบมาอยู่
ถ้วยดินเหนียวชิ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งถ้วยดินเหนียวแบบไร้ที่จับและไร้ความประณีต ซึ่งถูกพบพร้อมๆ กันเป็นจำนวนกว่า 1,000 ชิ้น ที่เกาะในประเทศกรีซ โดยมันเป็นถ้วยที่ออกแบบมาโดยชาวไมนอส (อารยธรรมก่อนหน้ากรีกโบราณ) และเคยถูกใช้งานในฐานะภาชนะดื่มไวน์
ความหยาบและปริมาณที่ถูกพบของวัตถุโบราณชิ้นนี้ เป็นหลักฐานอย่างดีว่าในอดีต มันถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะโยนทิ้งไป คล้ายกับแก้วกระดาษที่เราใช้กันในปัจจุบัน
“เช่นเดียวกับเรา คนในอดีตเองก็ไม่อยากที่จะต้องล้างจานเหมือนกัน” คุณ Julia Farley ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์อังกฤษกล่าว “ในแง่หนึ่ง นี่นับว่าเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความปรารถนาทั่วๆ ไปของมนุษย์ที่จะต้องการความสบายได้เป็นอย่างดี”
อ้างอิงจากทางพิพิธภัณฑ์ ชาวไมนอสในอดีตเป็นอารยธรรมที่มีการปาร์ตี้สังสรรค์เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ เนื่องจากมันเป็นวิธีที่ชนชั้นสูงจะแสดงออกถึงอำนาจและเงินตรา
อย่างไรก็ตามปาร์ตี้ใหญ่ๆ ก็มักจะนำมาซึ่งการเก็บกวาดครั้งใหญ่ตามไปด้วย และเช่นเดียวกับในปัจจุบัน ชาวไมนอสก็ไม่ได้อยากจะล้างถ้วยจำนวนมหาศาลมากนัก ดังนั้นพวกเขาจึงทำถ้วยดินเหนียวใช้แล้วทิ้งเหล่านี้ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และทิ้งมันไปหลังจากใช้งานเสร็จ
แต่แม้ว่าชาวไมนอสจะมีการทิ้งถ้วยดินเหนียวหล่านี้เป็นพันๆ ชิ้นก็ตาม มันก็ไม่ใช่ปริมาณที่เทียบได้เลยกับที่มนุษย์เราทำกันในปัจจุบัน นั่นเพราะขยะจากสินค้าให้แล้วทิ้งของมนุษย์ทุกวันนี้ เรียกได้ว่ามีอยู่มากจนธรรมชาติต้องใช้เวลากว่าพันๆ ปี ในการย่อยสลายเลยทีเดียว
“เราหวังว่าการจัดแสดงนี้จะทำให้ผู้คนคิดถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์เรา กับขยะทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตจริงๆ” คุณ Julia Farley กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา allthatsinteresting, theguardian, telegraph และ sciencealert
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น