หากเราพูดถึงประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่เรามักจะนึกถึง นั่นคือ เป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย ที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรม ผลงานศิลปะ ภาพยนตร์ การ์ตูน อาหารการกิน ตลอดจนถึงวิถีชีวิตของผู้คน และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีมาตรฐานการครองชีพและดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่สูง และยังเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย
อีกหนึ่งสิ่งที่ขึ้นชื่อสำหรับประเทศญี่ปุ่นนี้ นั่นคือ ประวัติศาสตร์ เพราะประเทศนี้มีเรื่องราวความเป็นมาที่ยาวนานและน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะญี่ปุ่นมีการนับศักราชแบบ “รัชศก” ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการนับศักราชแบบรัชศก เป็นการนับศักราชแบบจีน โดยนับตามช่วงเวลาที่พระจักรพรรดิแต่ละพระองค์เสวยราชสมบัติ โดยปีที่ทรงขึ้นครองราชย์ให้นับเป็นปีที่ 1 หรือรัชศกที่ 1 และนับต่อ ๆ ไปเรื่อยๆ จนสิ้นรัชกาล เมื่อพระจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ก็จะเริ่มต้นนับรัชศกที่ 1 ใหม่ (ซึ่งจีนในปัจจุบัน ไม่มีการนับศักราชแบบนี้แล้ว เนื่องจากจีนในปัจจุบันนับศักราชแบบสากล นั่นคือการใช้ “คริสตศักราช” นั่นเอง)
ในวันนี้เราจะมานำเสนอ 5 สมเด็จพระจักรพรรดิ กับ 5 ยุคสมัยใหม่ของญี่ปุ่น มาให้ท่านผู้อ่านได้รับชมกัน ซึ่งยุคใหม่ของญี่ปุ่นนั้น เป็นยุคที่เกิดขึ้นหลังจากยุคเอโดะและระบบศักดินาของโชกุนโตกุงาวะสิ้นสุดลง และเกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ในเวลาต่อมานั่นเอง ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1867 แล้วเริ่มต้นยุคใหม่ในปีถัดมา (ค.ศ. 1868) โดยเริ่มจากยุคสมัยย่อยยุคแรกนั่นคือ…
1. ยุคเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) :
เมจิ แปลว่า “กฎอันรู้แจ้ง” เป็นชื่อยุคในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ (ค.ศ. 1852-1912) จักรพรรดิพระองค์ที่ 122 เป็นยุคที่มีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ เพื่อให้ทัดเทียมกับชาติตะวันตก ซึ่งใช้เวลาเพียง 20 ปี ก็สามารถพัฒนาญี่ปุ่นจากประเทศด้อยพัฒนามาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย และเป็นชาติมหาอำนาจในรัชสมัยของพระองค์นั่นเอง รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 44 ปี 187 วัน
2. ยุคไทโช (ค.ศ. 1912-1926)
ไทโช แปลว่า “ความชอบธรรมอันยิ่งใหญ่” เป็นชื่อยุคในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ (ค.ศ. 1879-1926) จักรพรรดิพระองค์ที่ 123 เป็นยุคที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นยุคที่ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน ภายใต้กระแสของลัทธิจักรวรรดินิยมหรือชาตินิยม ซึ่งผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 14 ปี 148 วัน
3. ยุคโชวะ (ค.ศ. 1926-1989)
โชวะ แปลว่า “ความกลมเกลียวอันรู้แจ้ง” เป็นชื่อยุคในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ (ค.ศ. 1901-1989) จักรพรรดิพระองค์ที่ 124 เป็นยุคญี่ปุ่นต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการแผ่อำนาจและดินแดนไปทั่วเอเชียบูรพา ภายหลังที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี ค.ศ. 1945 มีการกอบกู้ประเทศที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม ทำให้ญี่ปุ่นสามารถกลับมายืนหยัดในฐานะชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง และยุคนี้ยังเป็นยุคที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 62 ปี 14 วัน
4. ยุคเฮเซ (ค.ศ. 1989-2019)
เฮเซ แปลว่า “สันติภาพทุกสารทิศ” เป็นชื่อยุคในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ (ค.ศ. 1933-ปัจจุบัน) จักรพรรดิพระองค์ที่ 125 เป็นยุคที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องของเทคโนโลยี เศรษฐกิจ วัฒนธรรมใหม่ๆ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ของโลก พระองค์เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์แรกที่ทรงสละราชสมบัติในรอบ 200 ปี นับตั้งแต่จักรพรรดิโคกากุ หรือ จักรพรรดิโมโรฮิโตะ (ค.ศ. 1771-1840) เป็นต้นมา รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 30 ปี 112 วัน
5. ยุคเรวะ (ค.ศ. 2019-ปัจจุบัน)
เรวะ แปลว่า “ความมีระเบียบและสันติ” เป็นชื่อยุคในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ (ค.ศ. 1960-ปัจจุบัน) จักรพรรดิพระองค์ที่ 126 เป็นยุคปัจจุบันของญี่ปุ่น เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 เป็นต้นมา หลังจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระราชบิดาของพระองค์ ทรงสละราชบัลลังก์ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2019
หากมีข้อมูลผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
เรียบเรียงโดย Yanakorn Phongkhachorn
ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ สื่ออินโฟง่ายๆจากเด็กสิงห์คราม
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น