CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ชม 8 ข่าวงานวิจัย-การค้นพบ ที่โด่งดังและน่าสนใจที่สุด ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

เชื่อว่าเพื่อนๆ อาจจะรู้สึกกันบ้าง ว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โลกของเราได้มีงานวิจัยที่สำคัญ และการค้นพบที่น่าสนใจ ปรากฏออกมาให้เห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งปริมาณข่าวที่ออกมานี้เอง ก็ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่หลายๆ คนอาจจะรู้สึกสงสัยว่าตัวเองได้พลาดข่าว สำคัญๆ ในช่วงเดือนที่ผ่านมาไปบ้างหรือไม่

ดังนั้นเพื่อที่จะเป็นการทบทวนเรื่องราวในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ในวันนี้เอง เหมียวศรัทธา จึงได้กลับไปรวบรวม 8 ข่าวงานวิจัยและการค้นพบที่โด่งดังและมีคนให้ความสนใจมากที่สุด ในช่วงพฤศจิกายนมาให้เพื่อนๆ ได้ชมกัน แต่จะมีข่าวอะไรบ้าง และน่าสนใจขนาดไหน เราไปชมพร้อมๆ กันเลยดีกว่า

 

1. เชื้อไวรัสโรคหัดมีความสามารถในการลบ “ความทรงจำ” ของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ได้

เรามาเริ่มกันจากข่าวของวงการแพทย์กัน กับข่าวการค้นพบความสามารถใหม่ของโรคหัดจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทำการทดลองสำรวจสุขภาพของเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และพบว่า

เด็กที่มีการติดเชื้อไวรัสโรคหัด จะสูญเสียความหลากหลายของแอนติบอดีในร่างกายไป ตั้งแต่ 11-72% ในขณะที่เด็กที่ไม่เป็นโรคหัด จะสามารถคงความหลากหลายของแอนติบอดีไว้ได้เฉลี่ยถึง 90%

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเมื่อไวรัสโรคหัดเข้าไปในร่างกายคน มันจะลดปริมาณของ เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายลง ซึ่งรวมไปถึงเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ชื่อ “บีเซลล์” ซึ่งตามปกติจะเก็บข้อมูลของโรคต่างๆ เอาไว้เพื่อสร้างแอนติบอดีในภายหน้า

ความสามารถเช่นนี้เอง ทำให้แม้ว่าไวรัสโรคหัดจะหายแล้วแต่ระบบภูมิคุ้มกันของผู้เคยเป็นโรคก็จะยังคงเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยอีกเป็นเวลานานเลย

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

2. จักรวาลของเรานั้น แท้จริงแล้วมีรูปร่างโค้งปิดสามารถเดินทางวนรอบได้คล้ายโลก

นี่เป็นการค้นพบที่เกิดขึ้นจากการที่ทีมนักดาราศาสตร์นานาชาติได้วิเคราะห์ รังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาล (Cosmic microwave background) หรือ CMB ซึ่งที่ผ่านๆ มาเราเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่หลงเหลือมาจากเหตุการณ์บิกแบงและพบว่า

จักรวาลของเรานั้นอาจมีรูปร่างโค้งเล็กน้อย ในอัตราที่ต่ำมากถึงขนาดที่มันจะไม่ส่งผลใดๆ ต่อการคำนวณการเคลื่อนที่ของระบบดวงดาว แต่ หากเราเดินทางในอวกาศตรงไปเรื่อยๆ ในสักวันหนึ่งเราก็จะวนกลับมาที่เดิม คล้ายกับการเดินทางรอบโลก

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากมันให้เกิดปัญหาขัดแย้งกับภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดทางดาราศาสตร์หลายข้อมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นเองก็รวมไปถึงงานวิจัยอีกชิ้น ที่มีการใช้ข้อมูลของ CMB เช่นเดียวกับงานวิจัยชิ้นนี้ด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

3. ทาสแมวถ่ายรูปน้องเหมียวเฉลี่ยวันละ 7 ภาพ

นี่เป็นงานวิจัยที่ออกสำรวจ เจ้าของแมวกว่า 1,000 คนโดย OnePoll และพบว่า เจ้าของแมวส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับแมวเฉลี่ย 1,016 ชั่วโมงต่อปี และถ่ายรูปน้องแมวเฉลี่ยถึงวันละ 7 รูป

เท่านั้นยังไม่พอ ผลสำรวจยังบอกอีกว่า 42% ของผู้ทำแบบสำรวจมีทั้งรูปภาพแมวของตัวเองหรือรูปภาพแมวของผู้อื่นอยู่ในบ้าน และอีก 60% บอกว่าแมวเป็นสัตว์ที่มีความจงรักภักดีด้วยนะ

อ่านข่าวต้นฉบับได้ ที่นี่

 

4. พบวิธีแอบดู “แมวของชเรอดิงเงอร์” โดยไม่เปลี่ยนสถานะของมันแบบถาวรแล้ว

นี่คือพบงานของทีมนักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยฮิโรชิมาในญี่ปุ่น ที่อาศัยการแยกกรอบความคิดทางคณิตศาสตร์ของ “การทำปฏิสัมพันธ์” (แอบดูแมว) ออกมาจากการ “ทราบผล” (รู้ว่าแมวข้างในเป็นหรือตาย)

โดยพวกเขา บอกว่าแทนที่เราจะสังเกตการณ์แมวด้วยตาซึ่งทำให้สถานะของแมวในกล่องเปลี่ยนไป เราจะสังเกตการณ์แมวในกล้องได้ด้วยกล้องแบบพิเศษที่วางอยู่นอกกล่องแต่กลับเห็นสิ่งที่อยู่ในกล่องได้

การกระทำนี้ทำให้ตัวกล่องจะมีข้อมูลอยู่สองอย่างคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแมวเมื่อถูกกล้องถ่าย (ซึ่งนักวิจัยเรียกว่าควอนตัมแท็ก) และผลลัพธ์ที่ว่าแมวมีชีวิตอยู่หรือไม่

จากนั้นเราก็ “ย้อนกลับ” การรบกวนของระบบคล้ายการกรอภาพกลับ ซึ่งเป็นการแลก “ความละเอียดของข้อมูล” กับ “การรบกวน” ที่เกิดขึ้นจากการสังเกตการณ์อีกที

อ่านข้อมูลการทดลองอย่างละเอียดได้ ที่นี่

 

5. ไข้เลือดออกติดต่อทางเพศสัมพันธ์เคสแรกของโลก

นี่เป็นการค้นพบโดยหน่วยงานด้านสุขภาพในประเทศสเปน โดยเกิดขึ้นกับคนไข้ชายวัย 41 ปี ซึ่ง ติดเชื้อไวรัสเดงกีมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากว่าเขาไม่เคยเดินทางไปยังประเทศที่มีเชื้อดังกล่าวแพร่ระบาดมาก่อน แม้จะมีคู่ขา (ผู้ชาย) เคยไปประเทศคิวบา และสาธารณรัฐโดมินิกัน (ที่มีเชื้อแพร่ระบาด) ก็ตาม

ดังนั้น เมื่อแพทย์ตัดสินใจตรวจอสุจิของคู่ขา พวกเขาก็พบว่าในอสุจิมีเชื้อไวรัสเดงกีอยู่ ซึ่งหมายความว่า คู่ขาหนุ่มคนนั้นติดเชื้อไข้เลือดออกจากยุงลายในประเทศคิวบามาก่อน หลังจากนั้นเขาก็ได้แพร่เชื้อดังกล่าวผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับคนไข้ที่เป็นผู้ชายด้วยกันได้นั่นเอง

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

6. ยืนยันการมีอยู่ของ “กำแพงเขตแดน” ที่สุดขอบของระบบสุริยะ

นี่เป็นการยืนยัน ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัย 5 ชิ้น ซึ่งอาศัยข้อมูลการเดินทางของยาน Voyager 2 โดยกำแพงเขตแดนที่ว่านี้มีชื่อว่า “เฮลิโอพอส” (Heliopause) ซึ่งเป็นจุดที่ลมสุริยะของดวงอาทิตย์ถูกหยุดโดยตัวกลางระหว่างดวงดาว

นักวิทยาศาสตร์ ให้คำจำกัดความของเฮลิโอพอสแบบสั้นๆ ว่ามันคือ “กำแพงที่ค่อนข้างเต็มไปด้วยรูพรุน” ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของ เฮลิโอสเฟียร์ ” (Heliosphere) ฟองของอนุภาคและสนามแม่เหล็กที่สร้างโดยดวงอาทิตย์

โดยจะเฮลิโอพอสอนุญาตใช้อนุภาคบางอย่างเคลื่อนที่ผ่านมันไปได้ ในขณะที่ทำการป้องกันอนุภาคอีกหลายๆ ชนิดสมคำจำกัดความของมันเลยนั่นเอง

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

7. ที่สุดขอบเขตอิทธิพลลมสุริยะยังมี “กำแพงเพลิง” อยู่อีกอันด้วย

นี่เป็นอีกข่าวที่เราได้มาจากการเดินทางของยาน Voyager 2 โดยในคราวนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซาได้พบว่าที่สุดขอบของเขตอิทธิพลลมสุริยะจากดวงอาทิตย์นั้น ยังมีแถบพลาสมาที่ประกอบไปด้วยกลุ่มก๊าซและอนุภาคประจุไฟฟ้าความร้อนสูงอยู่ด้วย

โดยแถบพลาสมานี้เกิดขึ้นจากการที่ลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ปะทะเข้ากับรังสีคอสมิกรุนแรงภายในช่องว่างระหว่างดวงดาว และอาจมีอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 30,000-50,000 องศาเซลเซียสเลย

แน่นอนว่าอุณหภูมิที่สูงขนาดนี้ ย่อมเป็นอุปสรรคต่อยาน Voyager 2 โดยมันอาจจะทำให้การเดินทางของยานล่าช้าลงไปมากหรืออาจจะสร้างความเสียหายกับตัวยานได้ โชคดีที่ในปัจจุบันยาน Voyager 2 จะยังไม่ได้มีการส่งสัญญาณที่ระบุว่าตัวยานได้รับความเสียหายรุนแรงกลับมายังโลกแต่อย่างไร

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

8. อาการเกลียดผักบางชนิดอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม

ปิดท้ายกันไปด้วยงานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยนักวิจัยจากสหรัฐฯ โดยพวกเขาพบว่า มนุษย์ทุกคนจะได้รับการถ่ายทอดยีน TAS2R38 อยู่ในร่างกายสองชุด โดยมันจะทำหน้าที่ถอดรหัสโปรตีนจากต่อมรับรสในลิ้นซึ่งจะทำให้เราสัมผัสได้ถึงความขม

โดยยีน TAS2R38 จะสามารถแบ่งออกได้เป็นแบบ  AVI กับ PAV ซึ่งจะอยู่กันเป็นคู่ และการจับคู่ของยันที่ว่านี้ก็จะทำให้การรับรสของคนแตกต่างกันออกไป เช่น

-คนมียีนแบบ AVI สองชุดจะไม่มีการรับรสชาติขมที่มากเท่าที่ควร

-คนที่มียีนแบบผสม AVI กับ PAV ก็จะเป็นคนที่มีต่อมรับรสขมที่มากกว่าปกตินิดหน่อย

-คนที่มียีนแบบ PAV สองชุด จะรู้ถึงรสชาติความขมได้มากกว่าใคร

ดังนั้นคนที่มียีนแบบ PAV สองชุด จึงมักจะรู้สึกว่าผักมันขม และมีโอกาสสูงที่จะเกิดการเกลียดผักไปด้วยนั่นเอง

 

รวบรวมและเรียบเรียงโดย #เหมียวศรัทธา


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น