CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

“แจ็คเก็ตติดพัดลม” นวัตกรรมคลายร้อนจากญี่ปุ่น แก้ไขปัญหาความร้อนคร่าชีวิตคน

หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาอุณหภูมิสูงขึ้น อากาศร้อนแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนทำให้ชาวญี่ปุ่นหลายรายถึงขั้นเสียชีวิต

และด้วยความที่เป็นประเทศแห่งการออกแบบนั่นเอง ชาวญี่ปุ่นจึงเกิดความคิดสร้างสรรค์ออกไอเดียผลิตเสื้อแจ็คเก็ตสุภาพ สวมใส่ทำงานได้ พร้อมติดพัดลมระบายความร้อนในตัว กลายมาเป็นนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาให้ชาวญี่ปุ่นได้อีกครั้ง

 

 

ที่จริงแล้วเสื้อแจ็คเก็ตพร้อมพัดลมระบายอากาศในตัว ถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกราวๆ ปี 2004 แต่เทคโนโลยียังพัฒนาให้ใช้พัดลมได้เพียง 3 – 4 ชั่วโมงเท่านั้น และมีโอกาสพังได้ง่ายมาก

ต่อมาในปี 2009 จึงถูกปรับปรุงให้มีความทนทานมากขึ้น โดยพัดลมสามารถทำงานได้ถึง 8 ชั่วโมง พร้อมๆ กับได้รับความนิยมมากขึ้นจากชาวญี่ปุ่น แต่ดีไซน์ของเสื้อยังดูเทอะทะเวลาสวมใส่

 

 

ปัจจุบัน แบรนด์เสื้อผ้า Burtle จากเมืองฟูจู จังหวัดฮิโรชิม่า ได้นำไอเดียดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอด ทำให้เสื้อแจ็คเก็ตพัดลม มีออฟชั่นแบตเตอรี่ถอดได้เพิ่มขึ้นมา

วิธีการทำงานคือพัดลมจะช่วยระบายอากาศจากด้านนอกเข้าไปในเสื้อแจ็คเก็ต ทำให้ร่างกายเย็นลง และการชาร์จแบตเตอรี่เพียงครั้งเดียว ก็ทำให้แบตเตอรี่มีประสิทธิภาพใช้งานได้ไปตลอดทั้งวัน

 

 

จากรูปจะเห็นได้ว่ามีช่องพัดลมรองรับทั้ง 2 ฝั่งบริเวณด้านหลังเสื้อทั้ง 2 ข้าง พร้อมแบตเตอรี่ที่สามารถเก็บได้สะดวกในกระเป๋าเสื้อด้านใน และบริเวณหลังต้นคอก็ยังมีช่องให้ระบายอากาศด้วยเช่นกัน

ฐานลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเสื้อแจ็คเก็ตคือเหล่าคนงานก่อสร้าง ที่ต้องใช้แรงงานท่ามกลางแดด และอุณหภูมิอันร้อนระอุในประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้เสื้อแจ็คเก็ตยังถูกออกแบบมาให้สวมใส่ได้ทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นชายและหญิง หรือเพศทางเลือกก็ตาม สามารถสวมใส่ในวันสบายๆ ได้อีกด้วย

 

เสื้อแจ็คเก็ตพร้อมพัดลมในตัวรุ่นใหม่จาก Burtle

 

มีรายงานว่าบริษัทด้านการก่อสร้าง แห่สั่งซื้อเสื้อเจ็คเก็ตดังกล่าวเป็นจำนวนมากให้พนักงาน เพื่อป้องกันปัญหาคนงานเสียชีวิตท่ามกลางอากาศร้อน

โดยเสื้อแจ็คเก็ตดังกล่าวถูกวางขายทางออนไลน์ พร้อมราคาเริ่มต้นที่ 20,000 เยน (ราว 5,800 บาท) สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ burtle หรืออินสตาแกรมที่ @burtle2011 ก็ได้เช่นกันค่ะ ^^’

 

เรียบเรียงโดย #เหมียวเมษา

ที่มา: burtle, the-japan-news & mothership

Comments

ใส่ความเห็น