มันเป็นเรื่องที่เรามักจะคิดกันว่าแพนด้าจัดเป็นหมี และหมีปีนต้นไม้ได้ ดังนั้นแพนด้าทุกตัวก็น่าจะปีนต้นไม้ได้เหมือนหมี อย่างไรก็ตามจากงานวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุดที่ได้รับการนำเสนอในงานพบปะของสมาคม Society for Integrative and Comparative Biology ดูเหมือนว่าแนวคิดนี้ จะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องสักเท่าไหร่
นั่นเพราะเมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองสังเกตการณ์ความสามารถในการปีนป่ายของแพนด้ายักษ์ (Ailuropoda melanoleuca) ระหว่างโครงการอนุบาลลูกแพนด้าเพื่อปล่อยกลับสู่ป่าในประเทศจีน พวกเขาก็ได้พบว่ามีแพนด้าจำนวนมากที่ปีนต้นไม้ไม่ได้
อ้างอิงจากข้อมูลของงานวิจัยที่ได้รับการเปิดเผยออกมา เหตุผลที่แพนด้าบางส่วนปีนต้นไม้ไม่ได้นั้น เกิดจากลักษณะสรีระร่างกายของแพนด้าเอง ซึ่งไม่ได้เอื้อต่อการปีนต้นไม้แบบหมี กลับกันพวกมันมีสภาพร่างกายใกล้เคียงไปทางสุนัขคอร์กี้ หรือแม้แต่ฮิปโปเสียมากกว่า
กล่าวคือ แพนด้าจะมีหัวและร่างกายที่ใหญ่ในขณะที่มีขาสั้น ซึ่งสัตว์ที่มีรูปลักษณ์แบบนี้ ตามปกติแล้วจะไม่มีความสามารถในการปีนต้นไม้ได้เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นแทนที่จะแปลกใจที่แพนด้าปีนต้นไม้ไม่ได้นักวิจัยหลายๆ คนจึงทำการทดลองนี้ภายใต้ข้อสงสัยว่าทำไมพวกมันถึงปืนต้นไม้ได้ด้วยซ้ำ
“มันแปลกมากที่แพนด้าจะเป็นนักปีนต้นไม้ที่ดีจากรูปร่างของมัน” คุณ Andrew Schulz นักฟิสิกส์อนุรักษ์จากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจียกล่าว
จนถึงปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ไม่เคยมีการตัดสินอย่างเป็นระบบด้วยซ้ำว่าทำไม หมีที่น่ารักเหล่านี้ บางตัวจึงสามารถปีนต้นไม้ได้ และพวกมันทำได้อย่างไร ฉะนั้นในตอนที่นักวิจัยพบว่าแพนด้ากลุ่มที่ปีนต้นไม้เก่งๆ นั้นล้วนแต่มีการใช้ “ส่วนหัว” เกาะต้นไม้เป็นกุญแจสำคัญ นักวิทยาศาสตร์จึงรู้สึกแปลกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาก
วิดีโอการสังเกตการณ์ลูกแพนด้าปีนป่าย
นั่นเพราะเทคนิคในการปีนต้นไม้แบบนี้ จะทำให้จุดศูนย์ถ่วงของแพนด้าตกลงไปอยู่ที่ขาแทน ทำให้ร่างของพวกมันมีความเสถียรภาพมากขึ้นในการปีนต้นไม้ ทั้งๆ ที่ร่างกายไม่อำนวย ซึ่งสำหรับทางโครงการแล้ว นับว่าเป็นแพนด้ากลุ่มที่มีความสามารถเอาตัวรอดที่ดี และเหมาะสมต่อการปล่อยกลับสู่ป่ามาก
แน่นอนว่าเทคนิคในรูปแบบนี้ ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่แพนด้าทุกตัวสามารถเริ่มรู้ได้ ดังนั้นความสามารถในการปืนต้นไม้ของสัตว์เหล่านี้ จึงยังคงขึ้นอยู่กับแพนด้าแต่ล่ะตัวเอง และเราก็ยังไม่อาจทราบได้เลยว่าแพนด้าที่ปีนต้นไม้ไม่เป็นในปัจจุบันจะสามารถปีนต้นไม้ได้เมื่อโตขึ้นหรือไม่
ด้วยเหตุนี้เองทีมงานของคุณ Andrew Schulz จึงตัดสินใจที่จะกลับมาสังเกตการณ์แพนด้ากลุ่มที่เหลืออยู่อีกครั้งในอีกหนึ่งปีข้างหน้า เพื่อที่จะยืนยันว่าการแพนด้าเหล่านี้จะมีพัฒนาการขึ้นหรือไม่
และเราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆ ว่า ภาพการทดลองในครั้งนี้ มันช่างน่ารักเสียเหลือเกิน
ที่มา livescience
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น