ย้อนกลับไปในช่วงวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา เหนือน่านฟ้าของจังหวัดอาลาฮัวลาในคอสตาริกา ได้เกิดเหตุลูกไฟจากท้องฟ้าพุ่งลงมาใส่บ้านหลังหนึ่ง
หลังจากเหตุการณ์สงบลงคนในพื้นที่ก็พบว่าลูกไฟที่ตกลงมานั้น ได้ทิ้งอุกกาบาตแปลกๆ เอาไว้ด้วย โดยต่างจากอุกกาบาตทั่วๆ ไปที่มักมีองค์กระกอบเป็นหินหรือโลหะ อุกกาบาตลูกนี้กลับมีสภาพคล้ายดินเหนียวที่แข็ง และมีกลิ่นหอมอย่างไม่น่าเชื่อแทน
อุกกาบาตดังกล่าวได้รับชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Aguas Zarcas” เพื่อเป็นเกียรติแก่พื้นที่ที่อุกกาบาตลูกนี้ตกลงมา โดยมันมีน้ำหนักอยู่ที่ราวๆ 1.8 กิโลกรัม และมีกลิ่นหอมคล้ายกะหล่ำดาว (Brussels Sprout) ที่ผ่านการปรุงอาหารมาแล้ว
กลิ่นที่ว่านี้ ถูกพบในภายหลังว่ามาจากสารประกอบอินทรีย์อย่างกรดอะมิโน ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอุกกาบาตลูกนี้ เป็นอุกกาบาตประเภทเดียวกับที่ทำให้โลกเกิดสิ่งมีชีวิตเมื่อราวๆ พันล้านปีก่อน
“เราได้กลิ่นจากสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยออกมาจากอุกกาบาต” คุณ Philipp Heck ผู้เชี่ยวชาญด้านอุกกาบาตของพิพิธภัณฑ์ฟิลด์กล่าว
“อุกกาบาตที่แตกต่างกันจะมีสารระเหยที่แตกต่างกันไปด้วย นั่นเพราะพวกมันถูก ‘ปรุง’ ด้วยความร้อนที่ต่างกันในระยะเวลาที่ต่างกันในตอนที่มันยังไม่แยกออกมาจากอุกกาบาตหลัก ซึ่งขั้นตอนนี้เองทำให้อุกกาบาตมีกลิ่นที่ต่างกัน”
อ้างอิงจากคุณ Philipp กรณีที่อุกกาบาตมีกลิ่นหอมคล้ายของกินเช่นนี้เป็นอะไรที่หายากเอามากๆ นั่นเพราะตามปกติความร้อนในอุกกาบาตทำลายกรดอะมิโนที่เป็นต้นกำเนิดกลิ่นไปจนหมด หรือต่อให้ยังเหลือกลิ่นดังกล่าวก็จะถูกทำให้ปนเปื้อนเพราะอะมิโนภาคพื้นดินของโลก
อุกกาบาตที่เห็นด้านบนไม่ใช่อุกกาบาต Aguas Zarcas เพียงชิ้นเดียวที่มีการพบ
เพราะในตอนที่อุกกาบาตตกลงมา มันได้แตกออกเป็นหลายส่วน และตกลงมาในขนาดที่ต่างๆ กันไป
แต่แม้ว่าอุกกาบาตที่พบนั้นจะมีกลิ่นหอมขนาดไหน ทางนักธรณีวิทยาก็ยังไม่ได้ทำการชิมรสชาติของมัน (บางกรณีจะมีการเลียหินที่พบเพื่อวินิจฉัยรสชาติ) เนื่องจากการเลียอุกกาบาตอาจทำให้มันปนเปื้อน หรือเสียรูปร่างจากการสัมผัสกับน้ำลายได้
เท่านั้นยังไม่พออุกกาบาตบางลูกเองก็อาจจะมีสารเคมีที่อันตรายหากมนุษย์ทานเข้าไปอีกด้วย ดังนั้นไม่ใช่แค่อุกกาบาต Aguas Zarcas แต่ตามปกตินักธรณีวิทยาจะไม่เลียอุกกาบาตใดๆ หากไม่จำเป็น
การเก็บรักษาอุกกาบาต Aguas Zarcas ด้วยไนโตรเจนเหลว
ทั้งนี้แล้วแม้ว่าอุกกาบาตดังกล่าวจะถูกพบที่คอสตาริกาก็ตาม ในปัจจุบันหนึ่งในชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของมัน ก็ได้ถูกบริจาคไปยังพิพิธภัณฑ์ฟิลด์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์เองก็บอกว่ามันจะถูกนำไปศึกษาต่อไปภายในเวลาอันใกล้นี้
ที่มา livescience, ticotimes
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น