นับว่าเป็นอีกข่าวที่น่าสนใจสำหรับหลายๆ คนเลยก็ว่าได้ เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา นักบรรพชีวินวิทยาของรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ได้ออกมาประกาศผ่านวารสาร PeerJ ว่า
พวกเขาได้ทำการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อราวๆ 157-152 ล้านปีก่อน ในพื้นที่อนุสรณ์สถานไดโนเสาร์แห่งชาติทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐยูทาห์เข้าให้แล้ว
ไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่นี้มีชื่อว่า “Allosaurus jimmadseni” โดยมันเป็นไดโนเสาร์ที่ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1990 ในสภาพโครงกระดูกไร้หัว ของไดโนเสาร์ตระกูล Allosaurus ซึ่งยังไม่อาจระบุสายพันธุ์ได้อย่างชัดเจน
นับว่าเป็นความโชคดีของ นักวิทยาศาสตร์มากที่ในเวลาอีกราวๆ 6 ปีต่อมา พวกเขาก็ค้นพบส่วนหัวของไดโนเสาร์ที่หายไป อย่างไรก็ตามไดโนเสาร์ดังกล่าว กลับไม่ได้รับการยืนยันตัวตนอย่างเป็นทางการเลยจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้
อ้างอิงจากรายงานการค้นพบ ที่ผ่านๆ มานักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าไดโนเสาร์ในตระกูล Allosaurus นั้น มีอยู่แค่สายพันธุ์เดียวคือ Allosaurus fragilis ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ฟอสซิลของไดโนเสาร์ร่างนี้ จะผ่านกาลเวลามานานนับสิบๆ ปี โดยที่ไม่มีใครสนใจมันมากนัก
เจ้า A. jimmadseni ที่ถูกพบในครั้งนี้ อยู่มาก่อน A. fragilis อย่างน้อยๆ 5 ล้านปี ทำให้มันกลายเป็นไดโนเสาร์ในตระกูล Allosaurus ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกไป
ไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ นับว่าเป็นนักล่าขนาดค่อนข้างใหญ่ ด้วยความยาวลำตัวถึง 9 เมตร และหนักถึง 1.8 ตัน โดยมันมีจุดเด่นสำคัญอยู่นิ้วทั้งสามนิ้วซึ่งมีกรงเล็บที่แหลมคม กะโหลกที่ตีบ และเขาอันเป็นเอกลักษณ์ที่ระหว่างดวงตาที่ทอดยาวขึ้นมาจากหน้าอก
“A. jimmadseni นับว่ามีโครงสร้างของกะโหลกที่เบาบางกว่า ไดโนเสาร์ในตระกูลเดียวกัน อย่าง A. fragilis มาก ซึ่งมันแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการทานอาหารที่ต่างกันของไดโนเสาร์ทั้งสองได้เป็นอย่างดีเลย” คุณ Mark Loewen นักเขียนร่วมของงานวิจัย กล่าวในรายงานที่ออกมา
ที่มา peerj, livescience และ sciencedaily
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น