เป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะทราบกันว่ามัมมี่แห่งอียิปต์นั้นไม่ได้มีแค่ที่เป็นคนเท่านั้น แต่ในสุสานหลายแห่งของประเทศ นักโบราณคดีก็ยังมีโอกาสพบมัมมี่ของสัตว์อื่นๆ อย่างแมว นก หรือแม้แต่ “จระเข้” ด้วย
ว่าแต่เพื่อนๆ เคยสงสัยกันไหมว่ามัมมี่สัตว์ที่เรามองว่าแปลกอย่างจระเข้นั้น เอาเข้าจริงๆ อาจจะเป็นที่นิยมในอดีตกว่าที่เราคิดก็ได้ นั่นเพราะเมื่อล่าสุดนี้เอง ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ที่ว่าชาวอียิปต์นั้นอาจจะถึงขั้นออกล่าจระเข้เพื่อเอามาทำมัมมี่เลย
ความจริงนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Paul-Valéry Montpellier III ของฝรั่งเศส ได้มีโอกาสเข้าตรวจสอบมัมมี่จระเข้อายุ 2,000 ปี ซึ่งถูกพบในแหล่งโบราณคดีวิหารคอมออมโบด้วยระบบซิงโครตรอนสแกนและพบว่า
มัมมี่จระเข้ส่วนมากในวิหารแห่งนี้มีสาเหตุการตายเดียวกัน นั่นคือบาดแผลรุนแรงที่กะโหลก ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์
“สาเหตุของการเสียชีวิตที่เป็นไปได้มากที่สุด คือการแตกหักอย่างรุนแรงที่กระดูกด้านบนของกะโหลก ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บที่สมองโดยตรง” นักวิจัยระบุ
“ขนาด รูปร่าง และทิศทางของบาดแผล ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ว่าพวกมันถูกสังหารด้วยการโจมตีครั้งเดียวด้วยกระบองไม้ โดยเป็นการเล็งที่ด้านหลังขวาของหัวจระเข้ ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นระหว่างที่มันนอนอยู่บนพื้น”
นักวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า นักล่าในสมัยอียิปต์โบราณจะทำการล่าจระเข้เหล่านี้เพื่อนำมาทำมัมมี่โดยเฉพาะ อ้างอิงจากการที่มัมมี่ที่พบล้วนแต่เข้าสู่กระบวนการทำมัมมี่แทบจะทันทีหลังจากความตาย ทำให้ในท้องของจรเข้บางครั้งก็ยังมีอาหารมื้อสุดท้ายหลงเหลือให้เห็นอยู่
ลักษณะการล่าเช่นนี้ สนับสนุนแนวคิดที่โด่งดังที่ว่าคนอียิปต์ทำมัมมี่สัตว์เพื่อบูชาเทพองค์ต่างๆ โดยในกรณีนี้ จระเข้ถูกมองโดยคนอียิปต์ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งของแม่น้ำไนล์ และเป็นตัวเช่นของเทพโซเบ็ค ผู้มีศีรษะเป็นจระเข้
อ้างอิงจากนักวิจัยในอียิปต์โบราณมีจระเข้อยู่หลายร้อยหลายพันตัวที่ถูกนำไปทำเป็นมัมมี่โดยเฉพาะในสุสานใหญ่แห่งเมือง Tebtunis แถมที่ผ่านๆ มานักโบราณคดียังเคยมีโอกาสพบโรงฟักไข่และเรือนอนุบาลของจระเข้มาแล้วด้วย
ซึ่งหลักฐานทั้งหมดที่ว่ามาเอง ก็ล้วนแต่ชี้ไปยังความจริงข้อเดียวกัน นั่นคือคนอียิปต์ในอดีตมีความต้องการในมัมมี่จระเข้ที่สูงมาก ในรูปแบบใกล้เคียงกับที่คนในปัจจุบันล่าพวกมันเพื่อทำกระเป๋าเลยนั่นเอง
ที่มา allthatsinteresting และ smithsonianmag
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น