ขณะยานอวกาศ “ฮายาบุสะ 2” ของญี่ปุ่น กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเดินทางกลับมายังโลก หลังจากที่มันได้ปฏิบัติภารกิจเดินทางไปเก็บตัวของเคราะห์น้อย “ริวงู” เมื่อช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์บนพื้นโลกเองก็ได้ใช้เวลาในช่วงนี้วิเคราะห์ข้อมูลอื่นๆ ของเคราะห์น้อยดังกล่าวที่ถูกส่งมาจากตัวยานอยู่เช่นกัน
โดยในบรรดาข้อมูลจำนวนมากมายที่ถูงส่งมาจากยาน ฮายาบุสะ 2 เองก็รวมไปถึงภาพถ่ายหลายชุดของพื้นผิวเคราะห์น้อยริวงูด้วย และภาพถ่ายเหล่านี้เองก็ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์พบกับลักษณะที่น่าสนใจของอุกกาบาตลูกนี้ อย่างความจริงที่ว่าวัตถุบนอุกกาบาตนั้น แท้จริงแล้วมีสีสองสี ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
และแล้วเมื่อล่าสุดนี้เอง จากการตรวจสอบภาพความละเอียดสูงที่พวกเขามี เมื่อล่าสุดนี้เองนักวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นก็ได้ออกมาเปิดเผยแล้วว่า พวกเขารู้แล้วว่าเพราะอะไรกันอุกกาบาตลูกนี้ ถึงได้มีสีที่ต่างกันได้ขนาดนี้
โดยคำตอบของปริศนาในข้อนี้ก็คือ เช่นเดียวกับ “อิคารัส” ในตำนานเทพเจ้ากรีกดาวเคราะห์น้อยริวงูเองก็เลยโคจรผ่านดวงอาทิตย์ในระยะห่างที่ “ใกล้เกินไป” เช่นกัน ซึ่งมันทำให้เคราะห์น้อยดวงนี้ถูกความร้อนเผาจนมีสภาพอย่างที่เห็น
อ้างอิงจากทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ภาพถ่ายที่ช่วยไขปริศนาของดาวเคราะห์น้อยข้อนี้ เป็นภาพที่ถูกถ่ายไว้ในตอนที่ยานฮายาบุสะ 2 ลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยริวงูเป็นครั้งแรก (จากทั้งหมด 2 ครั้ง) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2019
โดยพวกเขาได้อธิบายว่าหินของดาวเคราะห์น้อยริวงูนั้น เดิมทีแล้วน่าจะเคยเป็นสีเดียวกันมาก่อน แต่เนื่องจากเมื่อราวๆ 300,000 หรือไม่ก็ 8.5 ล้านปีก่อน (แล้วแต่ลักษณะการโคจรของมัน) ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้โคจรผ่านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
การโคจรนี้ส่งผลให้ความร้อนมหาศาลของดาวฤกษ์ เผาผลาญหินแร่บนตัวอุกกาบาต ที่น่าจะเป็นคาร์บอนมีสีคล้ำที่องค์ประกอบเป็นแร่อย่างโอลิวีน ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ตัวอุกกาบาตที่ค่อนข้างแห้งเป็นทุนเดิมอยู่แล้วแห้งร่วนขึ้นไปอีก แต่ยังทำให้หินบางส่วนบนพื้นผิวของมันเปลี่ยนไปเป็นสีแดงด้วย
นี่นับว่าเป็นการค้นพบใหม่ที่น่าสนใจอีกชิ้นเลยทีเดียว เพราะมันไม่เพียงแต่จะทำให้เราเข้าใจเรื่องราวของอุกกาบาตลูกนี้มากขึ้นเท่านั้น แต่มันยังช่วยให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับระบบสุริยะของเราได้ดีมากขึ้นด้วย
“การศึกษาวิธีที่ทำให้โมเลกุลของหินบนอุกกาบาตเปลี่ยนแปลงทางเคมี โดยการใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ ถือว่ามีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจวิวัฒนาการทางเคมีของโมเลกุลทางอินทรีย์สาร ซึ่งอาจเคยถูกส่งไปยังโลกในยุคแรกเริ่มเป็นอย่างมาก” คุณ โทโมคัตสุ โมโรตะ รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวหนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
และที่สำคัญคือการค้นพบในครั้งนี้เกิดขึ้นได้โดยอาศัยเพียงแค่ภาพถ่ายจากอุกกาบาตเท่านั้น ดังนั้นในตอนที่ตัวอย่างของอุกกาบาตลูกนี้กลับมาถึงโลกจริงๆ พร้อมกับยาน ฮายาบุสะ 2 นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าพวกเขาคงจะสามารถศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับอุกกาบาตลูกนี้ ได้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอีกหลายเท่าเลยทีเดียว
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น