ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม 2019 ทางรัฐสภายุโรปได้มีการอนุมัติข้อเสนอที่จะ “สั่งห้ามไม่ให้มีการใช้พลาสติกที่ใช้ได้ครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง” โดยข้อเสนอนี้ตั้งใจที่จะบังคับใช้ทั่วทั้งสหภาพยุโรป
และล่าสุดทางรัฐบาลเยอรมนีก็ได้ออกมาประกาศแล้วว่า พวกเขาตั้งใจที่จะเดินหน้าทำตามข้อเสนอนั้นอย่างจริงจัง ด้วยการเตรียมยกเลิกการใช้พลาสติกในลักษณะดังกล่าวทุกรูปแบบ
อธิบายก่อนว่า ‘พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง’ นั้นก็คือสิ่งที่ทำมาจากพลาสติก ซึ่งเราใช้เพียงครั้งเดียวแล้วก็ทิ้งถังขยะเลย เป็นสิ่งที่ถูกเรียกว่ามีอายุการใช้งานสั้น แต่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายที่นาน
ยกตัวอย่างพลาสติกในลักษณะนี้ก็ได้แก่พวก หลอดพลาสติก, จานพลาสติก, ช้อน/ส้อมพลาสติก, ถุงพลาสติก, บรรจุภัณฑ์ใส่อาหารต่างๆ เป็นต้น
โดยทางประเทศเยอรมนีก็ต้องการจะสั่งห้ามใช้พลาสติกเหล่านั้นทั้งหมด
Svenja Schulze รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของเยอรมนี เขาชี้ว่าสิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน เปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้แล้วทิ้ง ซึ่งกว่า 20% ของขยะที่พบในประเทศนั้นก็คือพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งนี่แหละ
เขายังบอกอีกว่า 70% ของขยะที่พบในทะเล รวมถึงขยะบรรจุภัณฑ์ต่างๆ กว่า 18.7 ล้านตัน (จากข้อมูลในปี 2017) ทั้งสองส่วนนั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นพลาสติกชนิดนี้ด้วยกันทั้งสิ้นอีกด้วย
แสดงให้เห็นว่าพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหน
เราน่าจะสังเกตเห็นได้ว่าพลาสติกชนิดนี้มักจะไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้ซ้ำอยู่แล้ว Svenja จึงมองว่ามันคืออุปกรณ์ที่ด้อยประสิทธิภาพ และควรจะหมดไปจากความเคยชินของเราเสียที
“นี่จึงเป็นก้าวสำคัญของประเทศ ในการต่อสู้กับขยะพลาสติก เพื่อสิ่งแวดล้อมและอนาคตที่ดี”
อย่างไรก็ตาม พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้นก็จะยังคงถูกใช้อยู่บ้างในบางส่วน เช่น การใช้สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นความจำเป็นที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที
ทั้งนี้ ทางภาครัฐก็จะเร่งกระตุ้นให้ผู้คนหันมาใช้วัสดุอุปกรณ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ เพื่อการปรับตัวก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่ตั้งใจไว้
โดยการงดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้นจะเริ่มปฏิบัติจริงในวันที่ 3 กรกฎาคม 2021 (หรือก็คือประมาณอีก 1 ปีหลังจากนี้นั่นเอง)
เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู
ที่มา: Independent , ThePlanetaryPress , Unilad
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น