ในตอนที่มองแผนที่ของทวีปแอนตาร์กติกา เชื่อว่าคงมีหลายคนไม่น้อยที่รู้สึกขึ้นมาว่าที่แห่งนี้ มันช่างทั้ง “แบน” และไร้จุดเด่นอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ นั่นเพราะนอกจากธารน้ำแข็งสุดลูกหูลูกตาแล้ว ที่แห่งนี้ ก็เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีอะไรเลยก็คงไม่ผิดนัก
ว่าแต่ เพื่อนๆ ทราบกันหรือไม่ว่าภายใต้ธารน้ำแข็งที่ปกคลุมพื้นที่ขั้วโลกใต้ มาแทบจะชั่วกัลป์ชั่วกาลนั้น แท้จริงแล้วมันยังมีพื้นดินของทวีปในอดีต ที่มีทั้งเดินและหุบเขาใหญ่โตซ่อนอยู่ด้วย
นั่นเพราะเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้เอง ทางองค์กรอวกาศของสหรัฐอเมรกาหรือ นาซา ได้มีการออกมาเปิดเผยแผนที่ชิ้นใหม่ล่าสุด ของขั้วโลกใต้ ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การแสดงพื้นดินและหุบเขา ที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำแข็งเหล่านี้เอาไว้
แผนที่ชิ้นใหม่นี้ถูกเรียกว่า “BedMachine Antarctica” โดยมันเป็นแผนที่ที่อาศัยข้อมูลของการเคลื่อนไหวของน้ำแข็ง การไหวสะเทือนของพื้นที่ ไปจนถึงเรดาร์และข้อมูลอื่นๆ เพื่อสร้างแผนที่ผืนดินใต้น้ำแข็ง ที่มีรายละเอียดชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีมาของทวีปแอนตาร์กติกา
โดยแผนที่ที่ออกมานี้ ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience และ แสดงให้เห็นถึงภูเขาและร่องลึกมากมายที่อยู่ใต้ธารน้ำแข็ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็รวมไปถึง หุบเขาใต้ธารน้ำแข็งเดนแมน ซึ่งมีความลึกถึง 3,500 เมตร เรียกได้ว่าเป็นหุบเขาที่ที่ลึกที่สุดในโลกเลยก็ไม่ผิดนัก
หุบเขาใต้ธารน้ำแข็งเดนแมน สถานที่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผืนดินที่ลึกที่สุดในโลก
ที่สำคัญคือแผนที่ชิ้นนี้ ไม่ได้มีดีแค่การแสดงให้เห็นถึงอีกด้านของแอนตาร์กติกาที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเท่านั้น แต่มันยังมีความสำคัญต่อนักธรณีวิทยาเป็นอย่างมากด้วย
นั่นเพราะลักษณะภูเขาที่ปรากฏมาในแผนที่นี้ จะสามารถนำไปอ้างอิงในการ คำนวณการละลายของธารน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาได้ ซึ่งอ้างอิงจากทีมนักวิจัย เป็นเรื่องที่กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากภาวะโลกร้อน
หากน้ำแข็งทั้งขั้วโลกใต้ละลาย ทะเลของเราจะสูงขึ้นถึง 60 เมตร และต่อให้น้ำแข็งในที่แห่งนี้ละลายมาแค่บางส่วน มันก็จะทำให้เกิดผลกระทบได้อย่างไม่น่าเชื่อเลย
ดังนั้น แผนที่ที่ออกมานี้ จึงถือว่าเป็นของขวัญที่มีค่าเป็นอย่างมากเลยก็ว่าได้ เพราะการศึกษาลูกลักษณ์ของภูเขาใต้น้ำแข็งเหล่านี้ จะทำให้เราทราบได้ว่าในสถานการณ์โลกร้อนแบบในปัจจุบัน น้ำแข็งส่วนไหนจะละลายไปเป็นจุดแรกๆ และน้ำแข็งในจุดไหนที่จะละลายไปช้าที่สุด ทำให้เราสามารถรับมือ หรือป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้นั่นเอง
ที่มา livescience, nsidc, nature และ sciencealert
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น