หากว่าเรากล่าวถึงโรคระบาดร้ายแรง เชื่อว่าชื่อที่ปรากฏขึ้นมาในหัวของหลายๆ คนก็คงจะต่างกันไปแล้วแต่ช่วงเวลาที่คำถามนี้ถูกถามขึ้นมา แต่หากพูดถึงโรคระบาดที่ “ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์” มันก็คงจะไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่จะกล่าวว่าชื่อที่โผล่ขึ้นมาในหัวของหลายคน คงจะไม่พ้น “แบล็กเดท”
แบล็กเดทหรือ “กาฬมรณะ” เป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นในยุโรปเมื่อช่วงยุคกลาง โดยมันเป็นโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Yersinia pestis ซึ่งแพร่กระจายโดยมี มนุษย์ หมัด หรือสัตว์ฟันแทะแบบหนูเป็นพาหะสำคัญ และเกิดขึ้นซ้ำๆ ในทางตะวันตกอย่างน้อยๆ 3 ครั้งใหญ่ๆ
แบคทีเรียตัวนี้ ในบางครั้งก็ถูกเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากที่ราบสูงในเอเชียกลาง ก่อนจะแพร่ไปยังยุโรปผ่านการค้าขาย และได้กลายเป็นที่รู้จักเป็นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 6-8 จากเหตุโรคระบาดในกรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “กาฬโรคแห่งจัสติเนียน”
แบคทีเรีย Yersinia pestis
อย่างไรก็ตาม กว่าที่โรคจากแบคทีเรีย Yersinia pestis จะกลายเป็นที่รู้จักและมีเชื่อเสียงที่สุด มันก็ในการระบาดครั้งใหญ่ครั้งที่สองในช่วงปี 1346-1353 การระบาดซึ่งต่อมาถูกเรียกกันว่าแบล็กเดทนั่นเอง
เพราะแม้ว่าการระบาดของโรคครั้งนี้จะเป็นการระบาดครั้งที่สองก็ตาม แต่มันกลับเป็นการระบาดที่สังหารมนุษย์ไปเป็นจำนวนมากเสียยิ่งกว่าการระบาดครั้งแรก และเป็นเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์ยอมรับกันว่า เป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประสบ
เหตุการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ ถูกระบุไว้ว่าติดต่อได้ง่ายมากจากทั้งคนสู่คนหรือการถูกพาหนะอื่นๆ อย่างหนูกัด แถมผู้ติดโรคยังแสดงอาการได้หลากหลายทั้งมีไข้ อาเจียน เป็นฝี มีน้ำหนองผสมเลือด แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ผู้ป่วยแทบทุกคนเป็นเหมือนกัน คือแทบไม่มีใครเลยที่เป็นโรคนี้แล้วจะรอด
แบล็กเดทในอดีตสามารถจบชีวิตผู้ติดเชื้ออย่างทุกข์ทรมานได้ในเวลาไม่กี่วันหลังติดเชื้อ แถมยังไม่มีใครค้นพบการรักษาที่ได้ผลในเวลานั้น ทำให้คนจำนวนมากต้องอยู่อย่างหวาดกลัว ประเทศต้องสูญเสียกำลังคน แถมบางครั้งโรคนี้ก็ยังทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด เนื่องจากคนเข้าใจผิดว่าโรคที่เกิดมาจากการลงโทษของพระเจ้าด้วย
ในท้ายที่สุดแบล็กเดท ก็ปลิดชีวิตมนุษย์ตั้งแต่ 30-100 ล้านคนในการระบาดครั้งที่สอง (แล้วแต่แหล่งข้อมูล) ด้วยอัตราการเสียชีวิตต่อผู้ติดโรคที่สูงถึง 80% เรียกได้ว่ามันสังหารประชากรชาวยุโรปไปราวๆ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดเลยก็ว่าได้
และแม้ว่าพายุใหญ่จะจบไปแล้วก็ตาม การระบาดของแบคทีเรีย Yersinia pestis ก็ใช่ว่าจะหายไปโดยสิ้นเชิงอยู่ดี เพราะเหตุการณ์โรคระบาดในรูปแบบนี้ได้เกิดขึ้นอีกหลายครั้งในประวัติศาสตร์
จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 18 การระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรคในรูปแบบนี้ก็ค่อยๆ หายไปจากทางตะวันตกอย่างช้าๆ
ในขณะที่ทางประเทศตะวันออก ดูเหมือนว่าการระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรคจะยังคงอยู่ไปจนถึงช่วงศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะมีการคิดค้นวิธีรักษาโรคอย่างได้ผลเลย
ที่มา livescience, historytoday, history และ britannica
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น