ลึกเข้าไปที่ใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก ยังมีหลุมดำมวลยิ่งยวดที่ชื่อว่า “Sagittarius A*” ตั้งอยู่ โดยมันค่อยดึงดูดดวงดาวรอบข้างด้วยแรงโน้มถ่วงอันมหาศาล และเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางช้างเผือกของเราเอาไว้ด้วยกัน
แต่เจ้าหลุมดำ Sagittarius A* นั้น แท้จริงแล้วก็ยังอาจจะมีความลับที่หลายๆ คนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อน อยู่อีกข้อหนึ่งด้วย
นั่นเพราะอ้างอิงจากงานวิจัยชิ้นใหม่ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 2020 ดูเหมือนว่าหลุมดำลูกนี้จะมีการดูดดาวฤกษ์สองดวง ที่เรียกกันว่า “ดาวคู่” (Binary star) เข้าไปรวมกัน จนก่อให้เกิดวัตถุแปลกๆ ชนิดใหม่ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าควรจะเรียกว่าดาวไหมเลยด้วย
งานวิจัยชิ้นนี้ เกิดขึ้นจากการที่นักวิทยาศาสตร์ทำการสำรวจวัตถุปริศนา 6 ชิ้นในอวกาศ ซึ่งถูกเรียกด้วยชื่อ G1 ถึง G6 โดยมันเป็นกลุ่มก้อนของแก๊สที่มีความใหญ่โตกว่าโลกหลายเท่า แต่กลับมีการหมุนและโคจรคล้ายดาวฤกษ์ขนาดเล็ก และสามารถเข้าใกล้หลุมดำมากๆ ได้โดยไม่ถูกทำลายไปเสียก่อน
ภาพจำลองวงโคจรของวัตถุปริศนาที่ถูกเรียกด้วยชื่อ G1 ถึง G6
พวกเขาตั้งข้อสังเกตจากรูปร่าง การโคจร และปฏิสัมพันธ์กับ Sagittarius A* ของวัตถุทั้งสองว่า วัตถุเหล่านี้ มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเคยเป็นดาวคู่มาก่อน โดยมันน่าจะถูกแรงดึงดูดของหลุมดำดึงจนเข้ามาชนกัน เกิดเป็นกลุ่มก้อนของแก๊สและฝุ่นละอองอย่างที่เห็น
“หลุมดำอาจเป็นสิ่งที่ทำให้ดาวคู่เหล่านี้รวมตัวกัน” คุณ Andrea Ghez ศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย นักเขียนร่วมของงานวิจัยชี้ “มันอาจเป็นไปได้ว่าดาวหลายดวงที่เราเฝ้าดูและไม่อาจทำความเข้าใจได้ ก็เกิดขึ้นจากการรวมตัวแบบนี้”
ระบบดาวคู่หรือ Binary star ตามปกติจะมีสภาพเป็นดาวฤกษ์ 2 ดวงขึ้นไป ซึ่งโคจรรอบศูนย์กลางมวลของระบบ
แต่แม้ว่าแนวคิดที่ออกมานี้จะสามารถให้อธิบายการมีอยู่ของวัตถุปริศนาทั้งหกชิ้นได้แบบพอดิบพอดีก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้วด้วยความที่เรายังไม่เคยเห็นดาวคู่กำลังจะถูกหลุมดำทำให้ชนกันมาก่อน มันก็ทำให้แบบคิดนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริงแบบไร้ข้อกังขาแต่อย่างไร
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ทีมนักวิจัยก็ได้มีการออกมาเปิดเผยว่าเราอาจจะไม่จำเป็นจะต้องรอเวลานานอย่างที่คิดเพื่อยืนยันข้อสันนิษฐานที่เกิดขึ้น เพราะในปัจจุบันพวกเขามีดวงดาวคู่ที่น่าสนใจอยู่ในใจแล้วกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกหลุมดำดูดให้มีวงโคจรชนกันในไม่กี่ปีข้างหน้านี้
ที่มา nature, livescience
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น