ย้อนกลับไปในช่วงปี 1907 ในช่วงเวลาที่โดรนบินได้ยังคงเป็นแค่ความฝัน และเครื่องบินยังไม่เป็นที่แพร่หลาย การที่คนคนหนึ่งจะถ่ายภาพเมืองหรือภูมิประเทศจากมุมสูงนั้น นับว่าเป็นอะไรที่ยากลำบากมาก
ในอดีตการถ่ายภาพจากมุมสูงจะต้องใช้บอลลูนหรือว่าว อาศัยการควบคุมด้วยมือเป็นหลัก และถูกมองว่าเป็นอะไรที่ยุ่งยาก จนกระทั่งเภสัชกรหัวใสชาวเยอรมันคนหนึ่งคิดค้นการถ่ายภาพทางอากาศแบบใหม่ขึ้น
ชื่อของเภสัชกรคนนั้นคือ Julius Neubronner เภสัชกรผู้มีงานอดิเรกเป็นช่างภาพและนักประดิษฐ์มือสมัครเล่น ผู้ใช้เวลาว่างจากการทำงานของตนเอง
ทดลองออกแบบกล้องถ่ายรูปตั้งเวลาขนาดเล็ก ที่มีน้ำหนักไม่ถึง 75 กรัม เพื่อที่จะให้นกพิราบสามารถแบกมันบินไปด้วยได้
ผลงานภาพถ่ายชุดแรกที่คุณ Julius ได้มานั้น ออกมาดูดีมากจนเขาตัดสินใจที่จะออกแบบกล้องในรูปแบบนี้อย่างจริงจังในเวลาต่อมา โดยเขาได้ออกแบบกล้องเพิ่มมาอีกหลายรุ่น
อย่างกล้องที่มีการเพิ่มเลนส์กล้องเป็นสองอัน ซึ่งหันไปคนละด้าน หรือกล้องที่สามารถถ่ายภาพแบบสเตอริโอสโคปิกได้ ก่อนจะนำผลงานยื่นขอจดสิทธิบัตร
ในช่วงเวลาแรกที่เจ้าหน้าที่เห็นผลงานของเขา การขอจดสิทธิบัตรของคุณ Julius ก็ถูกปฏิเสธไปทันที เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เชื่อว่านกพิราบจะสามารถแบกกล้องบินได้จริงๆ
แต่เมื่อคุณ Julius พานกพิราบติดกล้องพร้อมภาพถ่ายจากมุมสูงมาให้เจ้าหน้าที่ดูในปี 1908 เจ้าหน้าที่ก็ยอมให้เขาจดสิทธิบัตรจนได้
ตัวอย่างภาพถ่ายจากนกพิราบของคุณ Julius
.
.
หลังจากวันนั้นมานกพิราบติดกล้องของคุณ Julius ก็สร้างชื่อเสียงและทรัพย์สินให้แก่เขาเป็นอย่างมาก แถมตัวเทคโนโลยีเองก็ถูกกองทัพของหลากหลายประเทศ นำไปประยุกต์ใช้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และสงครามโลกครั้งที่สองด้วย
จริงอยู่ว่าในช่วงสงครามทั้งสองครั้งนี้เครื่องบินจะเริ่มมีความแพร่หลายแล้วก็ตาม แต่นกพิราบก็มีความได้เปรียบกว่าเครื่องบินตรงที่พวกมันไม่เป็นที่สนใจมากเท่าเครื่องบิน ทำให้มันมีโอกาสเก็บภาพตำแหน่งของศัตรูได้มากกว่าเครื่องบินสอดแนม
อ้างอิงจากบันทึกสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ฝั่งเยอรมนีมีการพัฒนากล้องรูปแบบนี้จนสามารถจับภาพได้มากถึง 200 ภาพต่อการบินหนึ่งครั้ง แถมฝรั่งเศสก็ยังมีการอ้างว่าพวกเขามีการฝึกสุนัขสงครามให้นำนกพิราบติดกล้องไปปล่อยหลังแนวรบด้วย
และแม้ว่าการพัฒนาทางการบินจะทำให้การใช้งานนกพิราบติดกล้องค่อยๆ ลดลงไปตามกาลเวลาก็ตาม นกติดกล้องเหล่านี้ก็มีบันทึกไว้ว่าถูกใช้งานโดยรัฐบาลไปถึงช่วงปี 1970 เลยทีเดียว
โดยในเวลานั้นทาง CIA ได้ออกแบบกล้องนกพิราบที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ขึ้นมา แม้ว่าจะไม่ได้มีการระบุไว้ว่าเอาไปใช้ทำอะไรก็ตาม
แน่นอนว่าในปัจจุบันการถ่ายภาพทางอากาศของนกพิราบนั้นได้ถูกทดแทนโดย เครื่องบิน ดาวเทียม หรือโดรนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่เรื่องราวของคุณ Julius และนกพิราบของเขาก็จะถูกจดจำต่อไปอีกแสนนาน ในฐานะหนึ่งในผู้ที่ทำให้ภาพถ่ายทางอากาศกลายเป็นเรื่องที่แพร่หลายนั่นเอง
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น