CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ชม “Canary Resuscitators” เครื่องตรวจแก๊สพิษในอดีต ที่ใช้นกเป็นกุญแจสำคัญ

ภายในโบราณวัตถุจำนวนมากของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในเซาท์เคนซิงตัน กรุงลอนดอน ยังมีเครื่องมือแปลกๆ อยู่ชิ้นหนึ่งซึ่งมีรูปร่างคล้ายห้องรมแก๊สขนาดเล็ก ที่ภายในใส่นกน้อยตัวหนึ่งเอาไว้

 

 

นี่อาจจะเป็นภาพที่เมื่อมองเผินๆ แล้วทำให้เราคิดว่านี่เป็นเครื่องมือที่ทรมานนกน้อย อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว กระบอกแก๊สที่เห็นนั้นใส่ออกซิเจนเอาไว้ ส่วนเครื่องมือที่เห็นนี้ก็ออกแบบมาเพื่อช่วยชีวิตทั้งคนและสัตว์ไปพร้อมๆ กันด้วย

เครื่องมือชิ้นนี้มีชื่อว่า “Canary Resuscitators” อุปกรณ์ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการทำงานของคนงานเหมืองจนกระทั่งเมื่อ 30 ปีก่อน โดยมันเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้คนในสมัยนั้นตรวจจับแก๊สที่ไม่มีสีและกลิ่นแต่เป็นอันตรายอย่างคาร์บอนมอนอกไซด์ได้เร็วขึ้นนั่นเอง

เจ้า Canary Resuscitators จะมีการใช้งาน โดยการเปิดกระจกด้านที่เป็นรูปวงกลมของกล่องออกเพื่อให้อากาศเข้าไปได้ (ในกล่องมีตะแกรงคอยป้องกันไม่ให้นกหนีออกมา) และค่อยสังเกตท่าทางของนกที่อยู่ในกล่อง

 

 

ถ้านกเริ่มมีอาการแปลกๆ อย่างการกระสับกระส่าย มันก็จะหมายความว่าพื้นที่ที่คนงานเหมืองอยู่นั้นอาจมีแก๊สที่อันตรายอยู่ ส่วนถ้านกเกิดหมดสติไป คนงานเหมืองก็จะทำการอพยพออกจากพื้นที่ในทันที โดยในระหว่างนั้นพวกเขาจะปิดกระจกด้านที่เป็นรูปวงกลม และเปิดวาล์วให้ออกซิเจนไหลเข้าไปช่วยชีวิตของเจ้านกน้อย

ไอเดียของเครื่องมือการช่วยชีวิตรูปแบบนี้ ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกโดยคุณ John Haldane (1860-1936) นักสรีรวิทยาชาวสก็อตผู้ค้นพบว่าสัตว์ตัวเล็กๆ อย่างนกและหนู จะมีระบบการเผาผลาญที่สูง ดังนั้นพวกมันจึงมีปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสารพิษที่เร็วตามไปด้วย

 

ความแตกต่างระหว่างระบบหายใจของมนุษย์กับนก

 

ความสามารถในการช่วยชีวิตคนนี้เองทำให้การใช้นกในเหมืองกลายเป็นอะไรที่แพร่หลายมากๆ ในประเทศแถบยุโรปไป ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วในสมัยนั้น เราจะมีนกถูกใช้งานในรูปแบบนี้มากถึง 200 ตัว

แต่แม้ว่าเครื่องมือนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อช่วยชีวิตนกก็ตาม มันก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการใช้นกเป็นเหมือนเครื่องตรวจจับแก๊สพิษนั้นมันไม่ใช่สิ่งที่ดู “มีมนุษยธรรม” เลย ดังนั้นเมื่อปี 1986 การใช้นกในเหมืองจึงถูกกำหนดให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายโดยประเทศอังกฤษ

 

 

ส่วนเครื่องมืออย่าง Canary Resuscitators ก็ถูกทดแทนด้วยเครื่องตรวจจับแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่เพียงแต่ถูกกว่าแต่ยังมีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือสูงกว่าด้วย ปิดตำนานของเครื่องมือช่วยชีวิตที่หน้าตาเหมือนเครื่องทรมานไป ด้วยประการฉะนี้

 

ที่มา amusingplanet


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น