ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1986 ได้เกิดเหตุการณ์แกนในของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดขึ้นที่เมืองพริเพียต ของประเทศยูเครน ส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของรังสีปริมาณมหาศาลในพื้นที่
ตั้งแต่เหตุการณ์ในวันนั้น ทางเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก็ได้ทำการปิดตายโรงไฟฟ้าแห่งนี้ โดยเฉพาะพื้นที่เตาปฏิกรณ์ที่ 4 ซึ่งมีปริมาณรังสีสูงจนสามารถทำให้สิ่งมีชีวิตมีอันตรายถึงชีวิตได้ในเวลาไม่กี่นาที
อย่างไรก็ตามหลายปีหลังจากที่การปิดตายโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเกิดขึ้น นักวิทยาศาสตร์กลับได้พบกับเรื่องราวแปลกๆ เข้า เมื่อในปี 1991 ได้มีเห็ดราสีดำงอกขึ้นมาในกำแพงของเตาปฏิกรณ์ แถมยังดูเหมือนว่าพวกมันจะไม่ได้รับผลกระทบที่ไม่ดีใดๆ จากรังสีเป็นพิเศษเลย
เห็ดราตัวที่ว่านี้มีชื่อว่า “Cryptococcus neoformans” เห็ดราซึ่งเดิมทีแล้วเป็นที่รู้จักในฐานะตัวการของโรคคริปโตค็อกโคสิส อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าเห็ดราตัวนี้จะมีการใช้ชีวิตที่มีเอกลักษณ์กว่าที่คิดในสถานที่ที่มีระดับรังสีอันตรายสูง
นั่นเพราะ C. neoformans นั้น ดูเหมือนว่าจะมีการกินรังสีเป็นอาหารเลย
ภาพของ Cryptococcus neosporans
อ้างอิงจากงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสามารถกินรังสีเป็นอาหารของเห็ดราชนิดนี้ คือลักษณะโครงสร้างที่มีเมลานินอยู่สูงของมัน
โดยเจ้าเมลานินเหล่านี้เป็นแบบเดียวกับที่พบได้ในผิวของมนุษย์ และเป็นที่รู้จักกันในฐานะเม็ดสีของผิวซึ่งดูดซับแสงและช่วยกระจายรังสีอัลตราไวโอเลตในผิว เพื่อเป็นการปกป้องผิวที่บอบบางอีกที
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ C. neoformans นักวิทยาศาสตร์พบว่าพวกมันจะใช้เมลานินปริมาณมหาศาลของมันในการดูดซับรังสี และแปลงมันเป็นพลังงานเคมีบางชนิดเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้พวกมันเอาตัวรอดในพื้นที่ที่มีรังสีสูงได้ แต่มันยังสามารถใช้ประโยชน์จากรังสีดังกล่าวด้วย
การค้นพบนี้นับว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์กับมนุษย์อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะความสามารถในการดูดซับรังสีของเมลานินและเปลี่ยนมันเป็นพลังงานเคมีนั้น อาจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวงการอื่นๆ อย่างเช่นการปกป้องนักบินในการสำรวจอวกาศได้ไม่ยากเลย
และก็แน่นอนว่าด้วยความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีชิ้นใหม่เช่นนี้เอง ในปัจจุบัน C. neoformans ในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล จึงกลายเป็นที่จับตามองของนักวิทยาศาสตร์อย่างไม่น่าเชื่อเลย
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น