CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิทยาศาสตร์เผย ยุคทางธรณีกาลยุคใหม่ “ชิบาเนียน” ตั้งชื่อตามจังหวัดชิบะในญี่ปุ่น

สำหรับคนที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับการค้นพบฟอสซิลโบราณ คำว่ายุคสมัยทางธรณีหรือ “ธรณีกาล” คงจะเป็นอะไรที่คุ้นหูคุ้นตากันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นยุคแคมเบรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในหมู่สิ่งมีชีวิตบนโลก หรือยุคจูแรสซิกที่โลกเต็มไปด้วยไดโนเสาร์

แต่แล้ว เมื่อล่าสุดนี้เองทางสหภาพวิทยาศาสตร์ทางธรณีนานาชาติ กลับได้มีการออกมาประกาศว่า โลกของเรานั้น กำลังจะมียุคสมัยทางธรณียุคใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกยุคแล้ว ภายใต้ชื่อยุคว่า “ชิบาเนียน” (Chibanian Age)

 

 

ยุคทางธรณีวิทยายุคใหม่นี้ เป็นยุคที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเมื่อราวๆ 770,000-126,000 ปีก่อน โดยมันเกิดขึ้นภายในสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene Epoch) อีกที และมีหลักฐานสำคัญอยู่ที่ชั้นของตะกอนที่พบบนหน้าผาริมแม่น้ำ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น

ยุคชิบาเนียน ถูกตั้งชื่อขึ้นมาตามชื่อของจังหวัดชิบะ อันเป็นสถานที่ที่ชั้นตะกอนตั้งอยู่ และถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากยุคดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่สนามแม่เหล็กของโลกสลับขั้วเหนือและขั้วใต้แบบพอดิบพอดี และทิ้งร่องรอยไว้ในชั้นดินอย่างชัดเจน

 

 

“ในพื้นที่ส่วนนี้ของชิบะ เรามีหนึ่งในบันทึกที่ดีที่สุดของการสลับขั้วแม่เหล็กโลก และมันก็เป็นบันทึกสำคัญของประวัติศาสตร์โลกในอดีต ที่จะช่วยให้เราเรียนรู้เรื่องราวที่่กำลังจะเกิดขึ้นกับโลกในเร็วๆ นี้ด้วย” คุณฮิโรชิ คิตาซาโตะ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลโตเกียวกล่าว

โดยคำกล่าวของเขาเป็นการอ้างอิงถึงความจริงที่ว่าในปัจจุบันขั้วแม่เหล็กโลกของโลกกำลังมีการเคลื่อนตัวไปจากจุดเดิมอยู่ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญว่าโลกกำลังจะมีการสลับขั้วแม่เหล็กอีกครั้ง

 

ภาพถ่ายมุมสูงของจังหวัดชิบะ

 

ทั้งนี้เองเราคงต้องระบุไว้ในที่นี้ด้วยว่าชั้นตะกอนที่จังหวัดชิบะนั้นถูกค้นพบมาเป็นเวลานานแล้ว และนักวิทยาศาสตร์เองก็มีการลงทะเบียนชั้นตะกอนดังกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2017 แล้ว อย่างไรก็ตามการขึ้นทะเบียนดังกล่าวเพิ่งจะได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเท่านั้น

 

ที่มา japantimes, eos, livescience


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น