CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิทย์ญี่ปุ่นสร้างหุ่นเด็กที่ “รู้สึกเจ็บได้” เชื่อทำให้มัน “เข้าใจมนุษย์มากขึ้น”

ตามปกติแล้วเมื่อเราดูหนังที่หุ่นยนต์ลุกขึ้นมากวาดล้างมนุษย์ โดยมากแล้วพวกหุ่นยนต์จะมีข้อได้เปรียบมนุษย์เหมือนๆ กันอยู่จุดหนึ่ง นั่นคือพวกมันจะไม่รู้สึกเจ็บปวด และทำให้พวกมันสามารถทำงานอะไรบางอย่างที่คนทั่วไปไม่สามารถทำได้

ว่าแต่เพื่อนๆ เคยสงสัยกันไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นกัน หากว่าเราทำให้หุ่นยนต์เองมีความรู้สึกเจ็บปวดขึ้นมาเหมือนมนุษย์? เพราะเมื่อล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอซาก้าของญี่ปุ่นก็เพิ่งจะทดลองทำหุ่นยนต์ที่มีความสามารถแบบที่ว่านี้แล้ว ภายใต้ชื่อ “Affetto”

 

 

หุ่นยนต์ตัวนี้เดิมที่แล้วเป็นหุ่นยนต์จำลองศีรษะของเด็กซึ่งถูกสร้างขึ้นมาในช่วงปี 2011 โดยในอดีตมันมีความสามารถในการแสดงสีหน้าต่างๆ กันออกไปผ่านจุดขยับบนหน้าที่มีมากถึง 116 แห่ง และสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นหุ่นที่มีการปฏิสัมพันธ์สมจริงกับมนุษย์

ดังนั้นเพื่อที่จะให้หุ่นยนต์ดังกล่าวมีความสมจริงขึ้นอีกขึ้น เมื่อล่าสุดนี้เองทางนักวิทยาศาสตร์จึงได้ตัดสินใจที่จะผิวหนังใหม่ให้กับ Affetto โดยอาศัยผิวหนังสังเคราะห์แบบพิเศษที่มีการฝังเซนเซอร์ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงความดันเอาไว้ ซึ่งจะทำให้ Affetto สามารถรับความรู้สึกจากการสัมผัสได้ ทั้งการแตะเบาๆ และการถูกต่อยอย่างรุนแรง

 

 

นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่าการทำให้หุ่นรับความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์นั้น จะทำให้หุ่นยนต์ของพวกเขามีการสื่อสารกับคนที่สมจริงและประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้พวกมัน “เข้าใจเรามากขึ้น” ไปด้วย

และในกรณีที่งานวิจัยนี้เป็นไปได้ด้วยดี ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์ก็พร้อมที่จะพัฒนาต่อยอดงานวิจัยของพวกเขา เพื่อสร้างร่างกายให้กับ Affetto ต่อไปเลย

 

วิดีโอการแสดงสีหน้าและอารมณ์บางส่วนของ Affetto

 

อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ก็อาจจะนำมาซึ่งปัญหาได้มากมายเช่นกัน นั่นเพราะใช่ว่าทุกคนจะคิดว่าการทำให้หุ่นยนต์มีความรู้สึกเจ็บนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันอาจจะนำมาซึ่งปัญหาทางจริยธรรมได้

และที่สำคัญคืออ้างอิงจาก Antonio Damasio นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย ความเจ็บที่หุ่นได้รับนั้นมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะ “ไม่เหมือน” กับความเจ็บที่คนเรามีนั่นเอง

 

ที่มา iflscience, sciencenews, interestingengineering


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น