ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 19 นักบรรพชีวินในประเทศอังกฤษ ได้ทำการค้นพบฟอสซิลขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่ง ที่เก็บเอาภาพการต่อสู้ของสัตว์น้ำสองชนิด ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ หลายร้อยล้านปีก่อน ในช่วงยุคจูราสสิคเอาไว้
ในเวลานั้น นักบรรพชีวินพบว่าสิ่งที่พวกเขาพบนั้น เป็นฉากการล่าเหยื่อของบรรพบุรุษของหมึกกล้วยอย่าง “Clarkeiteuthis montefiorei” ซึ่งกำลังจับปลาในอดีต “Dorsetichthys bechei” ไว้ด้วยหนวดของมัน ซึ่งแม้จะน่าตื่นตา แต่ก็ไม่ได้ใช้ข้อมูลอะไรมากนักด้วยความที่เทคโนโลยีในเวลานั้นมีจำกัด
ฟอสซิลของ หมึก C. montefiorei (ซ้าย) ระหว่างการจับปลา D. bechei (ขวา) ด้วยหนวดของมัน
อย่างไรก็ตามเมื่อนักวิจัยได้มีโอกาสตรวจสอบฟอสซิลดังกล่าวอีกครั้งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน พวกเขาก็ได้พบกับความจริงข้อใหม่อีกหลายข้อ ที่ทำให้ฟอสซิลที่น่าสนใจอยู่แล้วชิ้นนี้ ยิ่งน่าสนใจขึ้นอีกหลายเท่าเลย
อ้างอิงจากในฟอสซิล ปลา D. bechei นั้น ไม่ได้เพียงแค่ถูกจับอยู่เท่านั้น แต่มันยังมีส่วนหัวที่ถูกบดเสียหายด้วย โดยมันอาจจะเกิดขึ้นได้จากทั้งอาวุธคล้ายตะขอที่หนวดหรือจากการถูกขยี้จากปากของหมึก C. montefiorei (หรือทั้งสองอย่าง) อีกที
อวัยวะคล้ายตะขอจากหนวดของ C. montefiorei รอบๆ ตัว D. bechei ที่ส่วนหัวถูกขยี้จนเสียหาย
ความจริงในจุดนี้ ทำให้ฟอสซิลในรูปแบบนี้ถือว่าค่อนข้างพิเศษ เพราะมันไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นว่าหมึกในอดีตมีการกินปลาขนาดใกล้ๆ กันจริงๆ เท่านั้น แต่มันยังแสดงให้เห็นถึงการวิธีการล่าของหมึกตัวนี้ และลักษณะของอาวุธที่มันใช้ได้เป็นอย่างดีด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะในการกลับมาวิจัยอีกครั้งนี้ นักวิจัยยังค้นพบอีกว่า แท้จริงแล้วฟอสซิลที่เห็นนี้ ถือว่ามีอายุมากกว่าที่นักบรรพชีวินเคยคิดไว้มาก
โดยมันอาจมีความเก่าแก่ได้ถึง 190-199 ล้านปี ซึ่งถือว่าเก่าแก่กว่าหลักฐานการค้นพบสัตว์ในรูปแบบคล้ายๆ กันนี้ ในที่อื่นถึง 10 ล้านปี และทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในฟอสซิลหลักฐานสัตว์จำพวกหมึก (Diplobelid) ที่เก่าแก่ที่สุดไปด้วยเลย
ส่วนลำตัวของ C. montefiorei
“การล่าที่เห็นนี้ ในทางความหายากเลยเรียกได้ว่าอยู่นอกขอบเขตที่เราจะคาดได้เลย” คุณ Malcolm Hart นักเขียนหลักของงานวิจัยกล่าว “เรามีตัวอย่างเช่นนี้ ในยุคจูราสสิค แค่ราวๆ 5-10 ชิ้นเท่านั้น แถมยังเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่มาจากดอร์เซต และที่สำคัญเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดในโลกด้วย”
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่ แม้ว่าเทคโนโลยีของเราจะเพิ่มขึ้นขนาดไหน แต่สุดท้ายนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถบอกได้อยู่ดีว่าทำไมสัตว์ทั้งสองถึงกลายเป็นฟอสซิลไปแบบนี้ได้โดยที่ไม่ถูกกินโดยสัตว์อื่นๆ ไปก่อน
อย่างไรก็ตามด้วยความที่สัตว์ทั้งสองน่าจะถูกเก็บรักษาไว้ได้ด้วยโคลนที่ใต้ทะเล นักวิจัยก็เชื่อว่าปริมาณออกซิเจนที่ต่ำของท้องทะเลลึกเองน่าจะมีส่วนไม่น้อยกับการที่สัตว์ทั้งสองหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันเช่นนี้ ไม่ว่าจะจากความเป็นไปได้ที่หมึกดังกล่าวจะตายเพราะขาดออกซิเจน หรือการออกซิเจนที่น้อยช่วยให้ไม่มีสัตว์มากินซากทั้งสองก็ตาม
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น