การเต้นตามจังหวะเสียงเพลง ตั้งแต่ในอดีตมักถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในมนุษย์ก็เท่านั้น เพราะแม้ว่าเราอาจจะเคยเห็นสัตว์ที่เต้นตามเพลงอยู่บ้าง แต่นั่นก็เพราะพวกมันถูกฝึกมา ไม่ใช่ออกมาเต้นจากความชื่นชอบในเสียงเพลง
อย่างไรก็ตามในงานวิจัยล่าสุดนี้เอง ดูเหมือนว่าในความเป็นจริงแล้ว สัตว์ชนิดอื่นๆ เอง ก็อาจจะมีการลุกขึ้นมาเต้นเพียงเพราะอินกับเสียงเพลงได้เช่นกัน
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ในวารสาร Current Biology ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยทัฟส์ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการออกมาเปิดเผยข้อมูลชุดใหม่ที่ว่า
พฤติกรรมออกท่าทางกับเสียงเพลง หรือที่เราเรียกว่า “การเต้น” นั้น แท้จริงแล้วอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากการ “คิดค้น” ของมนุษย์ แต่เป็นการกระทำที่มีที่มาเกี่ยวข้องกับความสามารถทางปัญญาและระบบประสาทของสัตว์ต่างหาก
นี่เป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้น หลังจากที่ทีมนักวิจัยได้มีโอกาสชมคลิปของนกกระตั้วใหญ่หงอนเหลือง (Cacatua galerita eleonora) ชื่อ “Snowball” ที่เคยโด่งดังในปี 2008
และสังเกตว่าเจ้านกตัวนี้มีการเต้นไปกับจังหวะเพลงที่มันได้ยิน แม้ว่ามันจะไม่เคยฟังเพลงดังกล่าวมาก่อน ซึ่งสร้างความสนใจให้กับทีมนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก
เพราะที่ผ่านมา การที่สัตว์จะเต้นไปกับเสียงเพลงนั้น มักจะต้องมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ อย่างการได้รับรางวัล หรือการเลียนแบบมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เอง ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงได้ตัดสินใจทำการทดลองกับเจ้านกอายุ 12 ปีตัวนี้อีกครั้ง
โดยคราวนี้พวกเขาได้มีการเปิดเพลงดังสองเพลงจากยุค 80 อย่าง “Another One Bites the Dust” และ “Girls Just Want to Have Fun” เพลงละ 3 ครั้งรวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 23 นาที
Snowball เต้นเพลง Another One Bites the Dust
พวกเขาพบว่าไม่เพียงแต่เจ้า Snowball จะเต้นไปกับเพลงที่ได้ยินทั้งที่ไม่ถูกสั่งเท่านั้น แต่มันยังมีการออกท่าทางที่แตกต่างกันไปในยามที่ได้ยินเพลงถึง 14 ท่าทาง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การโยกหัวหรือใช้ท่าทางเดิมๆ ที่เคยทำมาเท่านั้น
อ้างอิงจากทีมวิจัย การกระทำของ Snowball นั้น เป็นหลักฐานอย่างดีที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ว่าการเต้นเมื่อได้ยินเสียงเพลง อาจจะไม่ใช่การกระทำที่เกิดขึ้นจากประเพณีและวัฒนธรรมอันยาวนานของมนุษย์ก็เป็นได้
Snowball เต้นเพลง Girls Just Want to Have Fun
ทั้งนี้เองด้วยความที่ว่าลิงชิมแปนซีซึ่งมีลักษณะ DNA ใกล้เคียงกับมนุษย์ แต่ไม่มีการเต้นเมื่อได้ยินเสียงเพลงในรูปแบบเดียวกับเจ้า Snowball ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงได้ตั้งข้อสังเกตถึงเงื่อนไขที่คล้ายกันของสัตว์ที่เต้นตามเสียงเพลงไว้ว่า
1. สัตว์ดังกล่าวมีความสามารถในการเรียนรู้เสียงที่ซับซ้อน
2. สัตว์ดังกล่าวมีความสามารถในการเรียนรู้และเลียนแบบการเคลื่อนไหวแบบอวัจนภาษา
3. สัตว์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสร้างพันธะทางสังคมในระยะยาว (เนื่องจากทั้ง Snowball และมนุษย์ดูเหมือนจะเต้นด้วยเหตุผลทางสังคม)
4. สัตว์ดังกล่าวมีความสามารถในการเรียนรู้ลำดับของการกระทำที่ซับซ้อน (เพื่อให้เกิดท่าเต้นที่หลากหลาย)
5. สัตว์ดังกล่าวมีความสนใจต่อการสื่อสารด้วยการเคลื่อนไหว (ในกรณีนี้หมายถึงสนใจต่อการเคลื่อนไหวเอง ไม่ใช่ผลกระทบของการเคลื่อนไหวนั้นๆ)
สุดท้ายแล้วนักวิจัยยังได้มีการกล่าวชม Snowball ไว้ด้วยว่า นกตัวนี้เป็นสัตว์ที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะแม้ว่าบนอินเตอร์เน็ตจะมีนกที่เต้นกับเสียงเพลงให้เห็นอยู่บ่อยๆ แต่ Snowball นั้นกลับเป็นนกตัวแรกที่นักวิทยาศาสตร์มีการตรวจสอบในรูปแบบนี้
ที่มา livescience, iflscience และ cell
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น