CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการโรคทางสมองหายาก แพทย์คาดทั้งสองโรคอาจเกี่ยวข้องกัน

เรื่องราวของโรคระบาดอย่างโรคโควิด-19 นั้น ในปัจจุบันถือว่าเป็นที่หวาดกลัวของผู้คนเป็นอย่างมากเลยก็ว่าได้ เพราะโรคดังกล่าวนี้ ไม่เพียงแต่ติดต่อกันง่ายเท่านั้น แต่มันยังไม่มียาใดๆ ที่จะรักษาโรคนี้ได้แบบจำเพาะด้วย

 

 

แต่แล้วเมื่อล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ก็ได้พบกับกรณีศึกษาใหม่ที่อาจจะทำให้โรคที่น่ากลัวอยู่แล้วนี้ ยิ่งน่ากลัวเข้าไปอีกอย่างไม่น่าเชื่อเลย นั่นเพราะในรายงานชิ้นใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคมในวารสาร Radiology แพทย์ในสหรัฐอเมริกาได้พบว่า

มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายหนึ่ง ซึ่งป่วยเป็นโรคทางสมองหายากถูกตรวจพบโรคโควิด-19 ในร่างกาย ซึ่งทำให้ทีมแพทย์กำลังตั้งข้อสังเกตกันอยู่ว่าโรคทั้งสองอาจจะเกี่ยวข้องกันก็ได้

 

 

อ้างอิงจากรายงานที่ออกมา โรคทางสมองที่ได้รับการกล่าวถึงในจุดนี้คืออาการที่ชื่อว่า “Acute necrotizing encephalopathy” ซึ่งอาการนี้จะทำให้ใจกลางสมองมีอาการอักเสบอย่างรุนแรงและมีเลือดออกร่วม ซึ่งที่ผ่านมาเราคาดกันไว้ว่าอาจมาเกิดได้จากการที่ร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสอย่างไข้หวัดใหญ่หรือเริมในปริมาณมาก

 

 

แน่นอนว่าในตอนนี้ เรายังฟันธงไม่ได้ว่าอาการของคนไข้คนดังกล่าวเกิดขึ้นจากการติดโรคโควิด-19 จริงๆ หรือไม่

อย่างไรก็ตามอ้างอิงจากโพสต์ของคุณหมอ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยลักษณะของไวรัส SARS-CoV-2 แล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไวรัสตัวนี้จะสามารถเข้าสู่ก้านสมองได้จริงๆ

 

 

ดังนั้น แม้ว่าในปัจจุบันทีมแพทย์จะยังไม่สามารถหาหลักฐานที่แสดงความเกี่ยวพันที่แน่ชัดของโรคทั้งสองได้ก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ ด้วยสิ่งที่เราทราบในปัจจุบันมันก็แสดงให้เห็นแล้วว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 อาจมีความเสี่ยงต่อโรคทางสมองกว่าคนปกติด้วย

และก็ด้วยเหตุนี้เอง ในปัจจุบันทีมนักวิจัยจึงออกมาบอกว่าเราควรที่จะขยายขอบเขตการเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้มากขึ้นกว่าเดิมอีกระดับ และขึ้นอยู่กับผลการทดลองในอนาคต เราอาจต้องขยายคำจำกัดความของผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกไปอีกขั้นเลยด้วย

 

ที่มา livescience, rsna และเฟซบุ๊กคุณ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น