CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

MIT ทดสอบแบบสะพานของ “เลโอนาร์โด ดาวินชี” ใช้ได้จริงแม้ออกแบบเมื่อ 500 ปีก่อน

เชื่อว่าในปัจจุบันนี้ คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อของ “เลโอนาร์โด ดาวินชี” สุดยอดอัฉริยะชาวอิตาลี แห่งยุคเรอเนซองส์ เพราะเขานั้นไม่เพียงแต่จะเป็นเจ้าของภาพวาดชื่อดังก้องโลกเท่านั้น แต่เขายังเป็นนักออกแบบที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากอีกด้วย

ผลงานการออกแบบที่มีชื่อเสียงของดาวินชีนั้น มีตั้งแต่การออกแบบอุปกรณ์สำหรับการบิน การออกแบบโบสถ์ หรือแม้กระทั้งการออกแบบรถถัง

อย่างไรก็ตามชายคนนี้ยังไม่ผลงานที่หลายๆ คนอาจไม่เคยทราบมาก่อน อย่างการออกแบบสะพานให้กับจักรวรรดิออตโตมันด้วย

 

 

สะพานที่ว่านี้ ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อตอบสนองคำร้องขอแบบสะพานที่จะเชื่อมคอนสแตนติโนเปิลเข้ากับกาลาตา ของทางจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งในกรณีที่มีการสร้างขึ้นจริงๆ สะพานดังกล่าวจะกลายเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในสมัยนั้น

น่าเสียดายที่ในเวลานั้นสะพานของดาวินชีจะไม่ได้ถูกรับเลือกโดยจักรวรรดิออตโตมัน ทางนักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือที่รู้จักกันในนาม “MIT” จึงได้หยิบแบบสะพานตัวนี้มาทดลอง

ผลพบว่าแม้จะถูกออกแบบมาเมื่อ 500 ปีก่อน แต่สะพานของดาวินชีก็เป็นสะพานที่จะสามารถใช้งานได้จริงๆ เรียกได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ของวิศวกรรมโบราณได้อย่างเต็มตัว

 

 

ในการทดลองเพื่อหาความจริงครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์จากทาง MIT ได้ทำการจำลองสะพานของดาวินชีขึ้นมาด้วยระบบเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

มีบล็อกจำนวน 126 ชิ้นแทนของก้อนหินพันกว่าก้อนที่จะต้องใช้ในการสร้างสะพาน และทดลองโดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญอย่างสภาพทางธรณีวิทยาร่วมด้วย

“มันเป็นอะไรที่ทะเยอทะยานอย่างไม่น่าเชื่อ” Karly Bast จาก MIT หนึ่งในสมาชิกการทดลองกล่าว “สะพานนี้ยาวกว่าสะพานทั่วไปในเวลานั้นประมาณ 10 เท่าได้”

ถ้าเทียบกับในปัจจุบันสะพานของดาวินชีอาจจะไม่ใช่สะพานที่ยาวที่สุดในโลก แต่มันก็เป็นสะพานที่น่าสนใจเป็นอย่างมากเมื่อมองจากเทคโนโลยีในสมัยนั้น

เพราะตามปกติสะพานในอดีตจะมีการใช้โค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ซึ่งในกรณีที่จะสร้างสะพานยาวขนาดนี้พวกเขาจะต้องใช้เสาสะพานมากกว่า 10 เสาเลย

 

 

“มันเป็นพลังของรูปทรงเรขาคณิต” คุณ Bast ให้ข้อมูลเพิ่มเต็มเกี่ยวกับสะพานของดาวินชี นั่นเพราะตัวสะพานนี้ถูกออกแบบมาให้ตั้งอยู่ได้โดยอาศัยการบีบอัดเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องมีเสาค้ำเลย

เท่านั้นยังไม่พอสะพานของดาวินชียังมีการสร้างขึ้นให้มีโครงสร้างตัวค้ำแบบพิเศษที่ยืนออกมาจากปลายสะพานทั้งสองข้างอีกด้วย

ซึ่งชิ้นส่วนนี้เองจะทำให้สะพานมีความทนทานต่อการเคลื่อนไหวของแผ่นดินที่ตั้งมากขึ้น เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวบ่อยๆ เป็นอย่างมาก

“มันยากที่จะรู้ว่า ภาพร่างนี้เป็นเพียงภาพร่างเปล่าๆ ที่ดาวินชีวาดในเวลาแค่ 50 วินาทีหรือเป็นสิ่งที่เขานั่งคิดเป็นเวลานาน” คุณ Bast กล่าว แต่ดูเหมือนว่าไม่ว่าจะเป็นทางไหนสะพานที่ออกมา ก็นับว่าเป็นเครื่องยืนยันในความเป็นอัจฉริยะของชายคนนี้จริงๆ

 

 

ที่มา livescience, cnet, gizmodo

Comments

ใส่ความเห็น