CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิจัยทดลองนำซากจระเข้ไปทิ้งไว้ใต้ทะเลลึก พบถูกกินเรียบไม่เว้นแม้แต่กระดูก

ด้วยความที่ว่ามนุษย์เรามีงานวิจัยมีการวิจัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ในบางครั้งเราก็จะสามารถเห็นงานวิจัยที่ไม่ว่าจะดูอย่างไรก็ยังสงสัยว่านักวิทยาศาสตร์ทำไปเพื่ออะไร ปะปนอยู่

อย่างในกรณีล่าสุดนี้เอง เราก็ได้เห็นการทดลองสุดแปลกของนักวิทยาศาสตร์กันอีกครั้ง เมื่อพวกเขาได้นำซากของจระเข้น้ำจืดจำนวน 3 ร่าง (Alligator mississippiensis) ไปทิ้งไว้ใต้อ่าวเม็กซิโก ในระดับความลึกถึง 2 กิโลเมตร

 

 

อ้างอิงจากหัวหน้าทีมการทดลอง พวกเขาทำการทดลองสุดแปลกนี้ขึ้น เพื่อทดสอบว่าสัตว์ใต้ทะเลลึก ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่ที่แร้นแค้นหาอาหารได้ยาก จะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับแหล่งอาหารที่พวกมันไม่รู้จักมาก่อน

แน่นอนว่าพวกเขาตั้งข้อสันนิษฐานไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าสัตว์ใต้น้ำทะเลลึก คงจะไม่เลือกกินมากนัก และเข้ามากินศพของจระเข้ที่พบ อย่างไรก็ตามสิ่งที่พวกเขาพบกับเป็นอะไรที่น่าทึ่งกว่าที่คิดมาก

 

 

ซากจระเข้ตัวแรกที่ถูกส่งลงไปนั้น ถูกรุมกัดกินโดยสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งสีชมพูขนาดใหญ่ (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Bathynomus giganteus) ในเวลาแค่ 1 วันกว่า ซึ่งทั้งน่าขนลุก และน่าทึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะพวกมันมาพบร่างของจระเข้รวดเร็วกว่าที่นักวิจัยคาดไว้หลายสิบเท่า

 

วิดีโอเกี่ยวกับซากจระเข้ตัวแรกจาก LUMCON

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทำการตรวจสอบจระเข้ตัวที่สอง พวกเขาก็ต้องพบกับเรื่องน่าทึ่งเข้าอีกเรื่อง เพราะจระเข้ตัวนี้ ได้ถูกกัดกินจนเหลือแค่กะโหลกและกระดูกสันหลังในเวลา 51 วัน และแม้แต่กระดูกของมัน ก็กำลังถูกกัดกินต่อไปโดยสิ่งมีชีวิตรูปร่างเป็นฝอยๆ สีน้ำตาล

เมื่อทำการตรวจสอบ DNA ของสิ่งมีชีวิตดังกล่าว พวกเขาก็พบว่าสิ่งมีชีวิตตัวนี้ น่าจะจัดอยู่ในสิ่งมีชีวิตสกุล “Osedax” หนอนทะเลขนาดเล็กที่กินกระดูกเป็นอาหาร ทั้งๆ ที่ สิ่งมีชีวิตในสกุลนี้ ก็ไม่เคยถูกพบในพื้นที่อ่าวเม็กซิโกมาก่อนเลย

 

 

ส่วนเรื่องราวของจระเข้ตัวที่สามนั้น มันได้หายไปอย่างลึกลับในเวลาแค่ 8 วันก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะทันได้เก็บข้อมูลสัตว์น้ำใต้ทะเลเสียอีก

ซึ่งเมื่อตรวจสอบจุดที่เกิดเหตุทีมวิจัยก็คาดว่ามันอาจจะถูกฉลาม หรือนักล่าขนาดใหญ่อื่นๆ ใต้ทะเลคาบออกไปจากเชือกที่รัดไว้ก็เป็นได้

 

ที่มา livescience, plos และ foxnews


Posted

in

,

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น