เป็นเรื่องที่เราทราบกันว่าโลกใบนี้มีสิ่งมีชีวิตประหลาดๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และลึกลงไปใต้ทะเล อันกว้างใหญ่ของโลกเอง เราก็ยังมีสัตว์อยู่อีกหลายชนิดที่มนุษย์แทบจะไม่มีข้อมูลของพวกมันอยู่เลย
ช่วงต้นเดือนกันยายน ระหว่างที่ยานสำรวจใต้น้ำจากเรือ EV Nautilus กำลังทำการสำรวจพื้นที่ทะเลแปซิฟิก ทีมสำรวจก็ได้พบกับสิ่งมีชีวิตประหลาดในระดับความลึกที่ราวๆ 790 เมตร อธิบายไม่ถูกว่ามันเป็นเอเลี่ยน ผี หรือว่าผีของเอเลี่ยนอีกที
แน่นอนว่านี่ย่อมไม่ใช่ผีหรือเอเลี่ยนอย่างที่นักสำรวจเปรียบเทียบแต่อย่างไร แต่มันคือ “Deepstaria” แมงกะพรุนที่ได้ชื่อว่าหายากที่สุด และมีข้อมูลอยู่น้อยที่สุดในสายพันธุ์หนึ่งของโลก
แม้จะเคยถูกค้นพบและตั้งชื่อกันมาตั้งแต่ยุค 1960 มนุษย์กลับมีโอกาสได้พบเห็นพวกมันน้อยจนนับครั้งได้ รวมถึงการออกสำรวจทะเลที่ยังคงมีความท้าทายจนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่นักสำรวจทราบเกี่ยวกับ Deepstaria ในเวลานี้ คือมันมีความสามารถในการเปลี่ยนรูปร่างของตัวเองได้ ขยายขนาดตัวได้มากถึง 10 เท่า อาจใช้เพื่อเขมือบเหยื่อผู้โชคร้ายที่ว่ายน้ำผ่านมา
อ้างอิงจากข้อมูลของทีมสำรวจในตอนแรกที่พวกเขาพบ Deepstaria มันมีรอยเปื้อนสีแดงติดอยู่ภายในร่างกายด้วย ซึ่งเมื่อพวกเขาลองซูมเข้าไปดูรอยเปื้อนดังกล่าวอยางใกล้ชิด พบว่าเป็นไอโซพอดชนิดหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่
คาดกันว่ามันจะกำลังพยายามที่กินสัตว์น้ำเปลือกแข็งสีแดงตัวดังกล่าวอยู่ หรือไม่ก็ตัวไอโซพอดตัวนี้จงใจว่ายน้ำเข้าไปหาแมงกะพรุนด้วยตัวเอง เพื่อหนีจากนักล่าที่น่ากลัวยิงกว่าแมงกะพรุนในลักษณะของความสัมพันธ์ทางชีวภาพ
น่าเสียดายที่ข้อมูลอันน้อยนิดที่เรามีเกี่ยวกับ Deepstaria นั้นทำให้นักวิทยาศาสตร์บนเรือ EV Nautilus ไม่สามารถฟันธงได้ว่า ตัวไอโซพอดกับแมงกะพรุนมีการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันจริงๆ หรือตัวไอโซพอดแค่อาศัยในแมงกะพรุนในลักษณะปรสิต หรือแมงกะพรุนกำลังกินไอโซพอดอยู่กันแน่
จากการได้พบ Deepstaria ครั้งนี้ ก็ทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะได้ข้อมูลใหม่ๆ ของแมงกะพรุนตัวนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันเองทีมนักสำรวจก็ยังคงมีกำหนดการที่จะสำรวจทะเลต่อไป จนกระทั้งการสำรวจจะจบลงอย่างเป็นทางการ ในช่วงเดือนตุลาคม 2019
ที่มา livescience และ allthatsinteresting
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น