CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิทย์เผย ภาพถ่ายใหม่ของ “พื้นผิวดวงอาทิตย์” มีรายละเอียดสูงที่สุดเท่าที่เราเคยถ่ายมา

ดวงอาทิตย์ สำหรับหลายๆ คนแล้วคงจะเป็นสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันและไม่มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษมากนัก อย่างไรก็ตามสำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว เจ้าดวงดาวกลางระบบสุริยะดวงนี้ นักว่าเป็นที่สิ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวรอให้เราไปค้นหามากที่สุดชิ้นหนึ่งในจักรวาลเลยก็ว่าได้

ดังนั้น นี่จึงอาจจะเป็นข่าวดีของวงการดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์เลยก็ว่าได้ เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์  Daniel K. Inouye (DKIST) ในฮาวาย ได้ทำการถ่ายภาพดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกในชีวิตการทำงาน และออกมาเป็นภาพถ่ายดวงอาทิตย์ที่มีรายละเอียดสูงที่สุดเท่าที่มนุษย์มี

 

 

อ้างอิงจากนักวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ดูเหมือนข้าวโพดคาราเมลที่เราเห็นนี้ คือภาพของโครงสร้างพื้นผิวของดวงอาทิตย์ โดยมันเป็นกลุ่มก๊าซที่กำลัง “เดือด” ซึ่งครอบคลุมดวงอาทิตย์ทั้งดวงในสภาพคล้ายเซลล์ในร่างกายมนุษย์

โดยชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่เราเห็นนี้ แม้ว่าจะดูเล็กก็ตามแต่ในความเป็นจริงแล้วมีขนาดพอๆ กับรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา และรับหน้าที่สำคัญในการถ่ายเทความร้อนจากใจกลางดวงอาทิตย์ออกมาสู่พื้นผิวดาว

 

ภาพโคลสอัพของพื้นผิวดวงอาทิตย์ ซึ่งภาพที่เห็นนี้กินพื้นที่ราวๆ 700 กิโลเมตร

 

กล้อง DKIST ถ่ายภาพที่เราเห็นนี้ออกมาได้โดยอาศัยกระจกแบบพิเศษขนาดใหญ่ถึง 4 เมตร บวกกับระบบหล่อเย็นล้ำสมัยที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้กล้องร้อนจนเกินไปจากการส่องดูดวงอาทิตย์เป็นเวลานาน ก่อนที่จะใช้เลนส์ของมันกำจัดความบิดเบี้ยวออกจากชั้นบรรยากาศ และใช้พื้นที่ความคุมความร้อนกำจัดพลังงานส่วนเกินออกไปอีกที

นี่อาจจะฟังดูเป็นอะไรที่ยุ่งยากเอามากๆ สำหรับการถ่ายภาพของที่เราเห็นกันทุกวันอย่างดวงอาทิตย์ แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ ความสามารถในการสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ได้อย่างใกล้ชิดเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นอะไรที่คุ้มค่ามาก เพราะภาพถ่ายนี้ถือว่าเป็นเพียงการเปิดประตูสู่ก้าวใหม่ของการศึกษาดวงอาทิตย์ ที่จะกินเวลาไปอีกกว่าครึ่งศตวรรษเลย

 

ภาพเปรียบเทียบขนาดของรูปภาพ

 

และแม้ว่ารูปภาพที่เราเห็นนี้จะยังไม่ถูกนำไปใช้ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ บวกกับตัวกล้อง DKIST ก็ยังคงต้องมีการปรับปรุงการทำงาน และเปิดใช้งานอุปกรณ์อื่นๆ ไปอีกกว่า 6 เดือนก็ตาม

แต่นักวิทยาศาสตร์ก็คาดการว่าทันทีที่กล้องตัวนี้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พวกเขาก็จะสามารถใช้งานมันไขปริศนาสำคัญๆ ของดวงอาทิตย์ อย่างปริศนาที่ว่าทำไมโคโรนา ซึ่งเป็นส่วนนอกสุดของชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ ถึงได้มีความร้อนมากกว่าผิวดาวของดวงอาทิตย์เองได้ต่อไปในอนาคต

 

ที่มา livescience, gizmodo และ sciencedaily


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น