เมื่อเราพูดถึงการงอน หึง หรือความขี้มโนคิดนั่นคิดนี่ไปเอง ตามปกติสิ่งที่หลายๆ คนคิดขึ้นมาก็คงจะเป็นภาพของแฟนสาวแฟนหนุ่ม หรืออย่างน้อยๆ ก็คงจะเป็น “คน” ใกล้ตัวขึ้นมาเป็นอย่างแรกๆ
แต่ทราบกันหรือไม่ว่าแท้จริงแล้วน้องหมาซึ่งเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของเรานั้น แท้จริงแล้วก็มีพฤติกรรมขี้งอน ขี้หึง ขี้อิจฉาได้เหมือนกัน แถมยังเหมือนคนมากถึงขั้นความอิจฉาที่ว่า อาจจะมาจากการ “คิดไปเอง” ได้เลย
นั่นเพราะเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2021 ที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกแลนด์ในนิวซีแลนด์ ก็เพิ่งจะตีพิมพ์งานวิจัยใหม่ในวารสาร Psychological Science เพื่อยืนยันว่า สุนัขสามารถสร้างหรือกระตุ้นความรู้สึกอิจฉาขึ้นมาเองได้จริงๆ
โดยในการทดลองของงานวิจัยชิ้นนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ลองนำสุนัข 18 ตัวไปอยู่ในห้องที่สามารถมองเห็นเจ้าของได้โดยมีการใช้สายจูงรั้งพวกมันไว้เพื่อวัดแรงดึง ก่อนจะให้เจ้าของของพวกมันทำการทดลองลูบและชมเชย “สุนัขปลอม” ที่ทำจากวัสดุต่างๆ
ซึ่งประกอบด้วย สุนัขจำลองเสมือนจริง และกระบอกที่หุ้มด้วยขนแกะ
พวกเขาพบว่าเกือบๆ 80% ของสุนัขทั้งหมดนั้น เมื่อรับรู้ได้ว่าเจ้าของกำลังลูบสุนัขจำลองเสมือนจริง อยู่พวกมันจะมีการดึงสายจูงที่แรงขึ้น ด้วยความอิจฉา ต่างไปจากตอนที่พวกมันเห็นเจ้าของลูบกระบอกที่หุ้มด้วยขนแกะซึ่งพวกมันรู้ว่าไม่มีชีวิต
แต่ที่น่าสนใจคือ ต่อให้เป็นในกรณีที่ สุนัขเห็นเจ้าของอยู่กับสุนัขปลอมแล้ว นักวิทยาศาสตร์ลองเอาฉากมาบังให้สุนัขเห็นแต่เจ้าของและไม่เห็นสิ่งที่เขากำลังลูบ พวกมันก็จะมีอาการอิจฉาให้เห็นอยู่ดี
ต่อให้สิ่งที่เจ้าของลูบอยู่ตอนนั้นเป็นแค่อากาศไม่ใช่สุนัขจำลองเสมือนจริงก็ตาม
นี่นับว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เพราะมันหมายความว่าสุนัขเองก็สาามารถแสดงความอิจฉาต่อสิ่งที่มัน “คิดไปเอง” ได้ไม่ต่างจากคนเลย
และเพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ลองได้ลองทดลองแบบฉากกั้นโดยใช้กระบอกขนแกะ และวางสุนัขจำลองเสมือนจริงไว้ห่างออกไป 1.5 เมตร (แต่ยังอยู่ในระยะสายตาของสุนัข) เพื่อยืนยันว่าเจ้าของไม่ได้ลูบมันดูบ้าง
ซึ่งผลที่ออกมาคือสุนัขจะรู้ตัวว่าเจ้าของไม่ได้ลูบสุนัขอยู่และแทบไม่มีอาการดึงสายจูงเท่าปกติเลยนั่นเอง
วิดีโอการวิจัยจาก Animal Minds
“ผลลัพธ์เหล่านี้ไม่เพียงสนับสนุนแนวคิดที่ว่าสุนัขนั้นมีการแสดงพฤติกรรมขี้อิจฉาจริงๆ”
คุณ Amalia Bastos หนึ่งในทีมวิจัยระบุ
“แต่เราก็ยังพบด้วยว่าสุนัขสามารถแสดงความอิจฉาริษยาออกมาได้ แม้จากปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่พวกมันสร้างขึ้นมาเองในสมองด้วย”
ที่มา sciencealert และ psychologicalscience
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น