สำหรับคนที่เลี้ยงสุนัข เชื่อว่าหลายคนคงจะมีความรู้สึกที่ว่า เจ้าตูบเหล่านี้มันช่างอารมณ์ดีได้ง่าย แถมยังอารมณ์ดีได้แทบจะทุกเวลาจริงๆ กันอยู่บ่อยๆ จนบางครั้งหลายๆ คนก็อาจจะถึงขึ้นอยากจะไปเกิดใหม่เป็นสุนัขเลี้ยงในบ้านดีๆ กันเลยก็เป็นได้
ว่าแต่เพื่อนๆ ทราบกันหรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้ว เจ้าสุนัขเลี้ยงเหล่านี้ จริงๆ แล้วอาจจะมีเรื่องเครียดๆ แอบเก็บไว้มากกว่าที่เราคิดก็เป็นได้
นั่นเพราะจากงานวิจัยชิ้นใหม่ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการค้นพบว่า
สุนัขที่ถูกเลี้ยงในบ้านนั้น แท้จริงแล้วมากถึง 3 ใน 4 ซึ่งมีการแสดงปัญหาพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล และความเครียด ในระดับสูงอย่างไม่น่าเชื่อเลย
ผลการวิจัยที่ออกมานี้ เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลจากสุนัขเลี้ยงในฟินแลนด์ร่วม 14,000 ตัว จาก 264 สายพันธุ์ (ซึ่งในบรรดาตัวเลขนี้ราวๆ 200 ตัวเป็นพันธุ์ผสม) ด้วยการติดตามพฤติกรรมเป็นเวลานาน
โดยหลังจากการวิจัยจบลงพวกเขาก็พบว่า มากถึง 72.5% ของสุนัขเลี้ยงในการทดลองครั้งนี้จะมีการแสดงปัญหาพฤติกรรมความวิตกกังวล ให้เห็นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการไวต่อเสียง หรือความหวาดกลัวคนแปลกหน้า ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพวกมันมีความเครียดมากกว่าที่เราเคยคิด
การที่สุนัขขู่อะไรบางอย่างก็อาจจะเป็นการแสดงออกถึงความวิตกกังวลได้เช่นกัน
ระดับความรุนแรง และความถี่ของพฤติกรรมการแสดงความวิตกกังวลของสุนัขที่กล่าวมานี้ โดยมากแล้วจะต่างกันไปตามสายพันธุ์ต่างๆ อย่างสุนัขอย่างลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นนักล่าจะไม่ค่อยกลัวฟ้าผ่าหรือคนแปลกหน้านัก เมื่อเทียบกับสุนัขสายพันธุ์ที่เล็กกว่าอย่างมินิเจอร์ ชเนาเซอร์
กราฟแสดงจำนวนสุนัขสายพันธุ์ต่างๆ ที่แสดงออกถึงความวิตกกังวลต่อเสียงฟ้าผ่า (ซ้าย) และคนแปลกหน้า (ขวา)
นี่นับว่าเป็นงานวิจัยที่ค่อนข้างน่าสนใจมาก และแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าเจ้าของสุนัขนั้น บางส่วนยังเข้าใจสุนัขของตัวเองได้ไม่ดีเท่าที่หวังนัก แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็บอกไว้ว่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติของสุนัข ดังนั้นจะโทษคนดูแลไปหมดก็คงไม่ใช่อะไรที่ถูกนัก
นั่นเพราะในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มคนหลักๆ ที่รายงานความกลัวต่างๆ ที่พบในสุนัขแก่นักวิทยาศาสตร์ก็เป็นตัวเจ้าของสุนัขเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผูกพันและเอาใจใส่ได้เป็นอย่างดี
กราฟแสดงความกังวลในรูปแบบต่างๆ กันเทียบระหว่างสุนัขบอร์เดอร์ คอลลี่ และมินิเจอร์ ชเนาเซอร์
ดังนั้นทีมนักวิจัยจึงบอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการดูแลสินักก็คงจะไม่พ้นการเลือกสายพันธุ์ของพวกมันให้ตรงกับวิถีการใช้ชีวิตของเรามากกว่า
อย่างในกรณีที่คุณคิดว่าอาจจะไม่มีเวลาออกไปทำกิจกรรมกับสุนัขมากนัก การเลือกสุนัขที่มีพลังงานสูงก็คงจะไม่ใช่อะไรที่ดี เพราะมันอาจจะทำให้สุนัขรู้สึกไม่ดีหรือวิตกกังวลได้ (แม้ว่าต่อให้เป็นพันธุ์ไหนสุนัขก็ควรได้รับการออกกำลังกายก็ตาม)
และก็ไม่แน่เหมือนกันว่าอย่างน้อยๆ งานวิจัยชิ้นนี้ก็อาจจะทำให้เจ้าของสุนัขหลายตัวไม่น้อยเลย ได้ทำความเข้าใจสุนัขของตัวเองในรูปแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลยก็ได้
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น