สวัสดีครับทุกคน เห็นว่าคุณพี่เหมียวทั้งหลาย เปิดโอกาสให้ได้เขียนและแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ผมเลยอยากจะชวนทุกท่านคุยเรื่องรางวัลซีไรต์กันนน
ก่อนอื่น รางวัลซีไรต์ คืออะไรนะ ?
ซีไรต์ทับศัพท์มาจากคำว่า S.E.A. Write ซึ่งย่อมาจาก South East Asian Writers Awards หมายถึง รางวัลวรรณกรรมที่มอบให้แก่นักเขียน 10 ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และ เวียดนาม ชื่อเต็มในภาษาไทย คือ “รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน” แต่มักจะเรียกย่อๆว่า รางวัลซีไรต์ อันเป็นชื่อซึ่งรู้จักกันทั่วไปในวงการประพันธ์ของประเทศไทย
ที่มา : http://seawrite.com/
ในประเทศไทย รางวัลซีไรต์ เริ่มปีแรก ปี พ.ศ. 2522 ซึ่งหนังสือที่ได้รับรางวัลก็คือ นวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” ของคุณคำพูน บุญทวี นั่นเองงง
โดยรางวัลซีไรต์เนี่ยจะหมุนเวียนประเภทงานเขียนไปในแต่ละปี โดยเริ่มที่ นวนิยาย ปีถัดไปเป็น กวีนิพนธ์ และสุดท้ายคือ รวมเรื่องสั้น ก่อนจะกลับมาที่นวนิยายอีกครั้ง
ซึ่งหนังสือรางวัลซีไรต์เล่มล่าสุดคือ รวมเรื่องสั้น เรื่อง “คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ” ของคุณเจด็จ กำจรเดช ในปี พ.ศ. 2563 (ปี 2564 ยังไม่ออกน้าา)
แน่นอนว่า การที่จะได้รับรางวัลซีไรต์นั้นไม่ง่าย เพราะในแต่ละปี จะมีหนังสือเพียงแค่เล่มเดียวเท่านั้นที่ได้รับรางวัลนี้ จึงกล่าวได้ว่า ผู้เขียนหนังสือเล่มนั้นๆ เป็นเพชรเม็ดงามแห่งวงการวรรณกรรมไทยอย่างแท้จริง
การได้รางวัลซีไรต์ว่ายากแล้ว แต่การได้รางวัลซีไรต์ 2 ครั้งนั้นยากยิ่งกว่า ในทำเนียบนักเขียนรางวัลซีไรต์ที่ผ่านมา มีแค่ 5 คน เท่านั้น ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ 2 ครั้ง หรือที่เรียกกันว่า “ดับเบิลซีไรต์” ดังนี้
- ชาติ กอบจิตติ จากเรื่อง “คำพิพากษา” (นวนิยาย) พ.ศ. 2525
และ เรื่อง “เวลา” (นวนิยาย) พ.ศ. 2537
- วินทร์ เลียววาริณ จากเรื่อง “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” (นวนิยาย) พ.ศ. 2540
และ เรื่อง “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” (รวมเรื่องสั้น) พ.ศ. 2542
- วีรพร นิติประภา จากเรื่อง “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” (นวนิยาย) พ.ศ. 2558
และ เรื่อง “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” (นวนิยาย) พ.ศ. 2561
- อังคาร จันทาทิพย์ จากเรื่อง “หัวใจห้องที่ห้า” (กวีนิพนธ์) พ.ศ. 2556
และ เรื่อง “ระหว่างทางกลับบ้าน” (กวีนิพนธ์) พ.ศ. 2562
- จเด็จ กำจรเดช จากเรื่อง “แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ” พ.ศ. 2554
และ เรื่อง “คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ” พ.ศ. 2563 (เรื่องล่าสุดที่ได้รางวัล รูปอยู่ด้านบนนู่นไงงง)
เอาละะะ หลังจากอารัมภบทกันมาเนิ่นนาน ทีนี้จะได้เข้าประเด็นชวนคิดกันสักที 555 เพื่อนๆ สังเกตกันไหมว่า ตลอด 42 ปีอันยาวนานของรางวัลซีไรต์ ได้เกิดดับเบิลซีไรต์ถึง 3 คน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง นั่นแสดงให้เห็นอะไร??
1) ก็ปกตินี่นา เขาจะได้ดับเบิลหรือทริปเปิลซีไรต์ มันก็ไม่เห็นจะแปลกตรงไหน นั่นแสดงว่าพวกเขาเหล่านั้นเก่งจริงยังไงล่ะ ส่วนที่มาได้ติดๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็แค่เหตุการณ์ทั่วๆ ไป เขาแค่เป็นเขียนหนังสือในช่วงระยะเวลานั้นเฉยๆ
2) พวกเขาเหล่านั้นก็ยังคงเก่งจริงเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง แต่เกิดอะไรกับวงการซีไรต์หรือเปล่านะ ซีไรต์หมดความนิยมไปแล้วเหรอ ครั้งหนึ่ง รางวัลซีไรต์ถือได้ว่าเป็นเหมือนยอดเขาแห่งวงการวรรณกรรม ผู้ใดได้รางวัลซีไรต์ ก็นับได้ว่าเป็นผู้พิชิตวรรณพิภพ เป็นหนึ่งในใต้หล้า มาบัดนี้ ดูเหมือนว่า รางวัลซีไรต์จะเป็นแค่ภูเขาที่อยู่สุดชานแดนโลกวรรณกรรมไปซะแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปพิชิตภูเขานั้นแต่อย่างใด
ต้องยอมรับว่ารางวัลซีไรต์นั้น มีความศักดิ์สิทธิ์และสูงศักดิ์เป็นอย่างมาก จึงอาจเป็นไปได้ว่า ซีไรต์ ‘อาจ’ ติดกับความศักดิ์สิทธิ์นั้นเกินไป จนไม่สามารถพาตัวเองมาในยุคปัจจุบันได้ดีเท่าที่ควร คงเหลือแต่นักเขียนบางกลุ่ม(ถึงจะบางกลุ่ม แต่ก็ยังหลายกลุ่มอยู่ดีแหละ 555) ที่ยังให้ความสำคัญกับรางวัลซีไรต์ ในขณะที่คนอื่นๆ ปล่อยผ่าน หรือไม่ได้สนใจตั้งแต่แรก นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดดับเบิลซีไรต์ขึ้นบ่อยครั้งก็ได้
มองอีกมุม อาจเป็นเพราะ โลกเราเปิดกว้างมากขึ้น ผู้คนมีสิทธิ์เลือกอ่านหนังสือที่ตัวเองสนใจ มีทางเลือกในการอ่านที่หลากหลาย จึงไม่จำเป็นต้องยึดติดกับอะไรเดิมๆ อีกต่อไป
เพื่อนๆ คิดยังไงกันบ้างครับ คิดแบบข้อ 1, คิดแบบข้อ 2, คิดแบบผสม 1 และ 2 หรือ คิดแบบอื่น พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ สุดท้ายนี้ก็ขอจบด้วยประโยคเปิดเรื่องเลยแล้วกันนะครับ ว่า “Double S.E.A. Write บอกอะไรเรามั้ยนะ ?”
ป.ล. ผมใช้เวลานานมากสำหรับการเลือกห้องของเนื้อหา เพราะไม่รู้ว่า ไอเจ้าซีไรต์เนี่ย ควรไปอยู่ตรงไหนดี สุดท้ายก็ให้จบที่สยามเมืองยิ้มละกัน เพราะอย่างน้อยก็พูดถึงรางวัลซีไรต์ในประเทศไทยนี่นะ 55555
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น