ตั๊กแตนทะเลทราย (Desert Locust) คือหนึ่งในตัวการของภัยพิบัติที่ทางประเทศปากีสถานต้องเผชิญ หลังจากที่ตั๊กแตนนับแสนล้านตัวบุกถล่มพืชผลทางการเกษตร
จากรายงานกล่าวว่า ตั๊กแตนกว่า 400,000 ล้านตัวได้ทำลายพืชผลทางการเกษตรในหลายๆ แคว้นของปากีฯ ทั้งแคว้นสินธ์ แคว้นบาลูจิสถาน ไม่เว้นแม้แต่แคว้นปัญจาบ ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเขตชายแดนระหว่างสองประเทศ
ทางปากีสถานถึงขั้นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมา หลังจากที่ภัยพิบัติดังกล่าวถูกจัดให้ว่าเลวร้ายที่สุดในรอบ 20 ปี
ด้วยเหตุนั้น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศจีนจึงไม่อาจนิ่งนอนใจอยู่ได้ เพราะปัญหานี้กำลังจะส่งผลกระทบข้ามชายแดนเข้ามาทางเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์
รายงานล่าสุด (27 กุมภาพันธ์ 2020) ทางประเทศจีนจึงได้จัดตั้งกองทัพพิเศษที่จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้
และกองทัพพิเศษที่ว่านั้นก็คือ ‘เป็ด’ จำนวนกว่า 100,000 ตัว!!
Lu Lizhi นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน Zhejiang Academy of Agricultural Sciences เขาคือหนึ่งในผู้นำความคิดที่จะให้เป็ดกลายเป็นฮีโร่ ต่อสู้กับภัยพิบัติจากตั๊กแตน
Lizhi กล่าวว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พวกเขาได้จัดวางกองทัพเป็ดจำนวนกว่า 100,000 ตัวไว้ที่บริเวณชายแดนเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ที่ติดกับประเทศปากีสถาน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของพวกมัน
และผลที่ได้จากการทดสอบนั้นก็ถือว่ายอดเยี่ยมมาก ถึงขั้นเรียกว่าเป็ดนี่แหละที่เป็น “อาวุธชีวภาพที่ดีที่สุด” ในการต่อกรกับปัญหาดังกล่าว ดียิ่งกว่าการใช้สารเคมีเสียอีก
"Duck troops" gather at the border to face locust swarms pic.twitter.com/1J4r3dmmJk
— CGTN (@CGTNOfficial) February 19, 2020
.
Lizhi อธิบายว่า…
“เป็ดหนึ่งตัวจะกินตั๊กแตนได้มากกว่า 200 ตัวต่อวัน ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการใช้ ‘ไก่’ เพราะพวกมันกินตั๊กแตนได้แค่ 70 ตัวต่อวันเท่านั้นเอง
ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เป็ดมีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ทำให้ง่ายต่อการควบคุม”
โดยหลังจากที่การทดสอบสำเร็จไปได้ด้วยดี พวกเขาก็ตั้งใจที่จะส่งเป็ดจำนวนมากเหล่านั้นไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในประเทศปากีสถานให้เร็วที่สุด
ทว่าโครงการนี้ติดตรงที่มันยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐมากเท่าที่ควร เนื่องจากว่าปัญหาและข้อขัดแย้งบางอย่าง
Zhang Long ศาสตาราจารย์จากมหาวิทยาลัย China Agriculture University กล่าวว่า…
“แหล่งน้ำจำเป็นสำหรับเป็ด แต่ในพื้นที่ประสบภัยในปากีฯ ที่เต็มไปด้วยทะเลทรายกับอุณหภูมิที่ร้อนระอุนั้น พวกมันจะอยู่รอดได้อย่างไร?”
ขณะเดียวกันทางผู้วิจัยมั่นใจว่าโครงการนี้จะต้องประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างแน่นอน และเชื่อว่าจะสามารถจัดส่งกองทัพเป็ดไปยังพื้นที่ประสบภัยได้ภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศจีนมีการใช้กองทัพเป็ดแก้ปัญหาภัยพิบัติจากตั๊กแตน ในปี 2000 พวกเขาเคยวางกำลังเป็ด 30,000 ตัวในพื้นที่ชายแดนเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวมาแล้ว
เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น