CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ผู้เชี่ยวชาญในออสเตรเลียเตือน เฝ้าระวัง “ยุงช้าง” ตัวเท่าเหรียญ พาหะโรคที่ยังไม่มีทางรักษา

Toxorhynchites คือชื่อของ “ยุงช้าง” หนึ่งในชนิดของยุงที่มีขนาดใหญ่กว่ายุงที่เราพบเห็นกันทั่วๆ ไปถึง 5 เท่า ขนาดของมันนั้นใหญ่พอๆ กับเหรียญ 20 เซนต์ (ขนาดเกือบเท่ากับเหรียญ 5 บาทในบ้านเรา)

โดยยุงชนิดนี้สามารถพบได้มากที่สุดทางฝั่งตะวันออกของประเทศออสเตรเลีย พื้นที่ในรัฐควีนส์แลนด์

 

ลักษณะของยุงชนิดนี้

 

ทว่าความน่ากลัวของยุงชนิดนี้นั้นไม่ได้เป็นเพราะเรื่องขนาดตัว แต่เป็นเพราะเชื้อไวรัสที่พวกมันบางตัวมีอยู่ต่างหากล่ะ…

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยุงชนิดดังกล่าวนั้นอาจเกิดการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Ross River virus ซึ่งพวกมันสามารถนำโรคนี้ติดต่อมาสู่คนได้ผ่านการกัด

ที่สำคัญคือโรคนี้ยังไม่สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ แม้อาจไม่ถึงตาย แต่อาการป่วยที่เกิดจากเชื้อไวรัสตัวนี้ก็สามารถส่งผลนานเป็นเดือนๆ

 

 

อาการเบื้องต้นได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดเมื่อยตามข้อต่อและกล้ามเนื้อ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บตาและคอ มีผื่นขึ้น รู้สึกคันยุบยิบบริเวณฝ่ามือและเท้า

ส่วนใหญ่แล้วอาการข้างต้นจะคงอยู่ราวๆ 2-6 สัปดาห์ แต่ในบางกรณีอาจป่วยอยู่นานกว่า 3 เดือน และอย่างที่บอกว่ายังไม่มีวิธีการรักษา จึงทำได้เพียงแค่บรรเทาไปตามอาการ แล้วปล่อยให้มันหายไปเอง

 

 

แล้วทำไมเพิ่งมีการพูดถึงเรื่องนี้? นั่นก็เพราะว่าล่าสุดทางหน่วยงานของรัฐได้ออกมาเตือนชาวออสเตรเลียทุกคนให้เฝ้าระวังการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว หลังจากพบว่าประชากรของยุงช้างเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมมาก

จากสถิติในปี 2015 กล่าวว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้มากถึง 700 ราย แต่ทว่าในปี 2019 นั้นจำนวนผู้ติดเชื้อกลับลดลงจนเหลือเพียงแค่ 118 ราย

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าในปี 2020 นี้ จำนวนผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมมาก เพราะเพิ่งเกิดเหตุน้ำท่วมขึ้นในเมือง Gold Coast

 

 

Cameron Caldwell สมาชิกสภาเมือง ก็ได้ออกมากล่าวเตือนถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นนี้ เพราะการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสดังกล่าวนั้นอาจถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นหลังเพิ่งผ่านพ้นไฟป่ามาเลยก็ว่าได้

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการฉีดยากันยุงตามบึง หนองต่างๆ และบอกให้ประชาชนเฝ้าระวังในพื้นที่โดยรอบของย่าน Coombabah, Paradise Point และ Biggera Waters

 

เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู

ที่มา: HealthyWa DailyMail , GoldCoastBulletin


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น