CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

ผู้เชี่ยวชาญเผย “นกฟลามิงโก” จะมีเพื่อนสนิทที่คบกันไปจนตาย และจะเมินตัวที่ไม่ชอบหน้า

เชื่อว่าแทบทุกคนคงจะต้องมี ‘เพื่อนสนิท’ ตอนวัยรุ่นก็ชอบชวนกันไปหาอะไรทำด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน เดินห้างช็อปปิ้ง สังสรรค์ปาร์ตี้ คอยดูแลกันและกัน ตัวติดกันแทบจะตลอดเวลา

แต่รู้หรือไม่ว่าไม่ใช่มีแค่มนุษย์เราเท่านั้นที่มีเพื่อนสนิท เพราะแม้แต่เจ้า ‘ฟลามิงโก’ เองก็มีความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ด้วยเช่นเดียวกัน แถมยังเป็นความสัมพันธ์ที่จะอยู่กับมันไปตลอดชีวิตอีกด้วย

 

 

Paul Rose นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรม จากมหาวิทยาลัยเอกเซเตอร์ สหราชอาณาจักร เขาได้ทำการศึกษาลักษณะพฤติกรรมของนกฟลามิงโกในเขตคุ้มครองสัตว์ป่าพื้นที่ชุ่มน้ำ WWT Slimbridge

โดยจากการเก็บข้อมูลตลอดช่วงปี 2012-2016 ทำให้เขาพบว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้จะมีการสร้างความสัมพันธ์คล้ายกับมนุษย์ นั่นคือการมีเพื่อนสนิท (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพศเดียวกัน) ที่จะคบหากันไปยาวนานชั่วชีวิต

 

 

Paul กล่าวว่าเขาสามารถสังเกตเห็นความสัมพันธ์ข้างต้นของนกฟลามิงโกได้ หลังพบว่าในฝูงของพวกมันนั้นจะแบ่งออกมาเป็นกลุ่มย่อยๆ อยู่เสมอ

กลุ่มย่อยๆ ที่ว่านั้นก็คือกลุ่มที่เป็นเหมือนกับเพื่อนสนิทกันจริงๆ ดูจากพฤติกรรมไปไหนมาไหนด้วยกัน สร้างรังอยู่ใกล้ๆ กัน เรียกว่าตัวติดกันแทบจะตลอดเวลา ดูแยกตัวออกมาจากฝูงใหญ่อย่างชัดเจน

 

เขายังบอกอีกว่า กลุ่มเพื่อนสนิทนี้สามารถมีสูงสุดได้มากถึง 6 ตัว

 

แล้วพวกมันเลือกเพื่อนอย่างไร? Paul กล่าวว่าวิธีการนั้นก็แทบไม่ต่างอะไรกับมนุษย์เลย เพราะเจ้าฟลามิงโกที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะนี้มักจะเริ่มจากการที่แต่ละตัวมีความชอบคล้ายคลึงกัน มีพฤติกรรมทำอะไรเหมือนๆ กัน

แล้วพอมันเริ่มกลายเป็นเพื่อนสนิทกันเมื่อไหร่ พวกมันก็จะอยู่รวมกันไปแทบทุกเวลา แถมความสัมพันธ์นี้ยังเหนียวแน่นยาวนานไปตลอดช่วงชีวิตของพวกมันด้วย

 

เขายังเรียกว่านี่เป็นความสัมพันธ์เพื่อการเอาชีวิตรอด

 

ยิ่งไปกว่านั้นคือ Paul ยังสังเกตเห็นว่า กลุ่มเพื่อนสนิทนี้จะมีการแสดงพฤติกรรม “เมินตัวอื่นที่ไม่ชอบหน้า” เหมือนประมาณว่าถ้าพวกมันไม่ชอบนกฟลามิงโกตัวไหน ฝูงไหน พวกมันก็จะทำทีเป็นไม่สนใจแล้วเดินหนีไปเลย

Paul กล่าวว่านั่นอาจเป็นการช่วยให้พวกมันสามารถลดความเครียดลงได้ เพราะการอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่มักเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความวุ่นวาย การได้มีกลุ่มเพื่อนสนิทที่ชอบทำอะไรเหมือนๆ กันจึงช่วยตัดเรื่องแบบนั้นออกไป

 

 

เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู

ที่มา: NationalGeographic , Behavioural Processes , Unilad


Tags:

Comments

ใส่ความเห็น