ลึกลงไปใต้มหาสมุทรเขตร้อน ในพื้นที่ทางตะวันออกของหมู่เกาะอินโดนีเซียและออสเตรเลียตอนเหนือ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการค้นพบฉลามสายพันธุ์ใหม่ถึง 4 สายพันธุ์ ซึ่งมาจากสกุล Hemiscyllium ฉลามกลุ่มที่มีชื่อเสียงในฐานะของ “วอล์คกิ้ง ชาร์ค” หรือ “ฉลามเดิน”
การค้นพบในครั้งนี้ เป็นผลงานจากความพยายามยาวนาน 12 ปีของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่งพยายามทำการศึกษาฉลามในสกุล Hemiscyllium กลุ่มฉลามสุดแปลกที่วิวัฒนาการครีบของตัวเองมาเพื่อเดินหาอาหารใต้พื้นทะเล แทนที่จะว่ายน้ำหาอาหารเหมือนกับฉลามอื่นๆ
พวกเขาให้ความสนใจฉลามในกลุ่มนี้เนื่องจาก ฉลามในสกุล Hemiscyllium นั้นเพิ่งจะมีวิวัฒนาการแยกออกมาจากฉลามอื่นๆ เมื่อราวๆ เก้าล้านปีก่อนเท่านั้น ซึ่งทำให้พวกมันเป็น สายพันธุ์ที่มีการปรับตัวทางวิวัฒนาการล่าสุดที่จะเกิดขึ้นในหมู่ฉลาม
ผิดจากชื่อ “วอล์คกิ้ง ชาร์ค” ที่อาจจะดูน่ากลัวของมัน ฉลามเดินนั้นไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหน ก็มีขนาดตัวเฉลี่ยไม่ถึง 1 เมตรเท่านั้น ทำให้พวกมันไม่ได้มีความอันตรายต่อมนุษย์เลย กลับกันมันจะอาศัยความสามารถในการเดินและอาศัยในสภาวะออกซิเจนต่ำในการหาอาหารซึ่งมักเป็นกุ้งและหอยขนาดเล็กแทน
โดยในระหว่างการศึกษาฉลามเดินเหล่านี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ได้พบกับ ฉลามเดินเพิ่มขึ้นอีก 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับฉลามในสกุลเดียวกันอีก 5 สายพันธุ์ที่เคยมีการค้นพบอย่างใกล้ชิด และทำให้ฉลามสกุลนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว
วิดีโอการค้นพบจาก UQ Faculty of Medicine
อ้างอิงจากในงานวิจัย พวกเขายืนยันความเกี่ยวข้องของฉลาม 4 สายพันธุ์ใหม่กับฉลามเดินอื่นๆ ที่เราเคยพบ ผ่านการตรวจสอบชิ้นเนื้อ ซึ่งทำให้พวกเขายืนยันได้ว่าฉลามทั้ง 4 สายพันธุ์ มาจากสกุล Hemiscyllium จริงๆ
นับว่าน่าเสียดายที่ด้วยข้อมูลที่ยังคงถือว่ามีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย ในปัจจุบันมันจึงยังคงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าฉลามสายพันธุ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และทำไมพวกมันถึงมีการวิวัฒนาการแปลกแยกแบบนี้ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลที่มีในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อกันว่าฉลามสายพันธุ์เหล่านี้ น่าจะมีการวิวัฒนาการอย่างที่เดินในตอนที่แยกตัวจากประชากรฉลามอื่นๆ เพื่ออพยพไปยังพื้นที่อยู่อาศัยใหม่
และในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ของมหาสมุทรเขตร้อนเอง ก็น่าจะยังมีฉลาม Hemiscyllium เสายพันธุ์ที่เราไม่รู้จักดินอยู่อีกพอสมควรเลย
ที่มา sciencealert, nypost และ allthatsinteresting
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น