เชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าภาวะโลกร้อนนั้น สามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพอากาศขนาดไหน อย่างที่เราอาจจะเห็นได้จากข่าวเหตุการณ์ภัยพิบัติอย่างพายุ น้ำท่วม หรือคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นถี่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แต่ต่อให้พวกเราเคยคาดเดาว่าโลกจะต้องพบภัยพิบัติทางอากาศบ่อยขึ้นกันไว้แล้วก็ตาม ดูเหมือนว่าสุดท้ายแล้วการคาดเดาที่เราทำก็จะยังเป็นการประเมินการที่ “ต่ำเกินไป” อยู่ดี
นั่นเพราะจากรายงานชิ้นใหม่ที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ไปในวารสาร Science Advances เมื่อวันพุธที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาบอกว่า ด้วยภาวะโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบัน
เราจะมีโอกาสพบกับพิบัติทางอากาศที่เกี่ยวกับความร้อนมากขึ้นกว่าปกติถึง 80% ในขณะที่ภัยพิบัติทางอากาศที่เกี่ยวกับความเปียกชื้นอย่างพายุจะเกิดขึ้นถี่กว่าปกติอีก 50% ซึ่งทำให้ตัวเลขภัยพิบัติทางอากาศโดยรวม เพิ่มขึ้นจากที่เราเคยประเมินไว้ถึง 50%
อ้างอิงจากคุณ Noah Diffenbaugh นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หนึ่งในทีมวิจัย ตัวเลขชุดใหม่นี้เป็นสิ่งที่คำนวณขึ้นมาจาก ข้อมูลโมเดลสภาพภูมิอากาศและข้อมูลการสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่ใช้เก็บข้อมูลตัวเลขชุดเดิม
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชุดเก่านั้นคำนวณขึ้นจากข้อมูลในช่วงปี 1961-2005 ต่างไปจากของคุณ Noah Diffenbaugh ซึ่งได้มีการรวมเอาข้อมูลชุดที่ใหม่กว่าเดิมมากอย่างเหตุการณ์เฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ และภับพิบัติอื่นๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2006-2017 เข้าไปด้วยแล้ว
“มันเป็นสิ่งที่เรามีโอกาสได้เห็นกันปีแล้วปีเล่าว่าภัยพิบัติร้ายแรงเหล่านี้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนและระบบนิเวศอย่างไรบ้าง” คุณ Noah Diffenbaugh กล่าว
“ข่าวดีคือ ผลการคำนวณใหม่นี้ จะช่วยบอกเราถึงศักยภาพที่แท้จริงบางอย่างของเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และข้อมูลเหล่านี้เองก็อาจจะมีส่วนช่วยผู้กำหนดนโยบาย วิศวกร และกลุ่มคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถใช้ข้อมูลภาวะโลกร้อนตัวใหม่ที่เที่ยงตรงขึ้นในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดีเลย”
ที่มา foxnews, sciencemag และ gizmodo
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น