ย้อนกลับไปในวันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 ได้เกิดเหตุเครื่องตรวจสอบคลื่นความโน้มถ่วงสามแห่งได้ตรวจพบ “คลื่นความโน้มถ่วงปริศนา” กระจายออกมาจากห้วงอวกาศที่ไหนสักแห่ง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น สร้างความแปลกใจให้กับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเป็นอย่างมาก จนส่งผลให้หอดูดาวแทบทั้งโลก ต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อตามหาแหล่งที่มาของคลื่นความโน้มถ่วงที่พบ
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ทีมนักดาราศาสตร์กลับไม่พบกับอะไรเลยที่อาจจะเป็นต้นเหตุของคลื่นดังกล่าว ทั้งที่พวกเขามีการตรวจสอบคลื่นดังกล่าว ทั้งด้วยระบบเครื่องตรวจจับแสง เครื่องตรวจจับรังสีเอกซ์ หรือแม้แต่เครื่องตรวจจับอนุภาคนิวตริโน
อ้างอิงจากรายงานที่ออกมาในเวลานั้น คลื่นความโน้มถ่วงนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดยหอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงโดยใช้อินเตอร์เฟอโรมิเตอร์ชนิดเลเซอร์ (LIGO) ในรัฐวอชิงตันกับรัฐลุยเซียนา และหอสังเกตการณ์ Virgo detector ในประเทศอิตาลี
หอสังเกตการณ์ Virgo detector ในประเทศอิตาลี
มันถูกเรียกด้วยรหัสเหตุการณ์ว่า S191110af และถูกคาดเดาโดยนักวิทยาศาสตร์ว่าอาจจะเกิดขึ้นได้เพราะ
1. ซูเปอร์โนวาที่ไหนสักแห่งในใจกลางทางช้างเผือก ซึ่งมีแสงและฝุ่นมากจนเราไม่อาจมองเห็นด้วยกล้องโทรทรรศน์
2. การชนกันของหลุมดำสองแห่งในจักรวาลอันไกลโพ้น ซึ่งทำเกิดพลังงานในรูปแบบที่ไม่มีใครคาดคิด
3. วัตถุบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่รู้จักกำลังแผ่คลื่นความโน้มถ่วง และสิ่งที่เราตรวจพบก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้น
แต่ไม่ว่าจะเป็นข้อไหน ในเวลานั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพวกเขากำลัง ตรวจสอบสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ และอาจจะนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับจักรวาลของเราได้ไม่ยากเลย
อย่างไรก็ตามเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่ได้คาดคิด คือผลการตรวจสอบที่ออกมาจากหอสังเกตการณ์คลื่นความโน้มถ่วงนี้ แท้จริงแล้วมันเกิดขึ้นเพียงเพราะความผิดพลาดก็เท่านั้น
ความจริงข้อนี้ถูกเปิดเผยออกมาให้สาธารณชน ทราบเป็นครั้งแรกในวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน โดยคุณ Christopher Berry นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นที่รัฐอิลลินอยส์ หนึ่งในสมาชิกของ LIGO ซึ่งได้มีการออกมาทวีตว่า
“อนิจจา #S191110af ถูกเพิกถอนแล้ว”
Alas, #S191110af has now been retracted!https://t.co/f9irPxzZeP
There was some extra glitchiness at the frequencies of interest. Fortunately we have many monitors of the state of the instruments so we can check for correlations
Final rating: ❌— Christopher Berry (@cplberry) November 14, 2019
โดยภายในทวีตของเขา ได้มีการอ้างอิงถึงหน้าเว็บเก็บข้อมูลของทางนาซา ซึ่งได้ระบุไว้ว่า “เหตุการณ์ S191110af จะไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจอีกต่อไป”
ไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่า อะไรกันที่ทำให้หอสังเกตการณ์ถึงสามแห่งตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงที่ไม่มีอยู่จริง แต่อ้างอิงจากตัวคุณ Christopher เอง ดูเหมือนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะมาจาก…
“ความโชคร้าย” และ “ความผิดพลาดของระบบ” (Glitch) ภายในเครื่องตรวจจับเพียงตัวเดียว ซึ่งบังเอิญไปตรงกับสัญญาณจากเสียงอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดทั้งในคนดูแลและระบบอัลกอริทึมก็เท่านั้น
ช่างเทคนิคทำการตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วง
นี่ถือว่าเป็นความโชคร้ายอย่างไม่น่าเชื่อของทีมนักวิทยาศาสตร์อย่างที่คุณ Christopher กล่าวไว้จริงๆ เพราะระบบของทาง LIGO นั้น แม้ว่าจะมีความละเอียดอ่อนสูงแต่ก็มักจะมีการป้องกันความผิดพลาดที่ดีอยู่เสมอ และที่ผ่านๆ มาเองความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อผิดพลาดเช่นนี้ก็มีเพียงแค่ 1 ครั้งทุกๆ 12.68 ปีเท่านั้นเอง
ที่มา livescience, nasa และผู้ใช้ทวิตเตอร์ Christopher Berry
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น