ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา ในพื้นที่หาปลาของ San Clemente del Tuyú เมืองบนชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของอาร์เจนตินา ได้เกิดเหตุเต่าตนุ (Chelonia mydas) ตัวหนึ่ง ว่ายเข้ามาติดแหของชาวบ้านอย่างคุณ Roberto Ubieta
นับว่าเป็นโชคดีของเจ้าเต่าตัวนี้มากที่คุณ Roberto นั้นได้รับการฝึกจากมูลนิธิ Mundo Marino ให้ทำการช่วยเหลือสัตว์ใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช้ปลาซึ่งเป็นเป้าหมายการจับ ดังนั้นเขาจึงนำเต่าตัวดังกล่าวส่งไปให้ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลของสถาบัน San Clemente ในวันที่ 29 ธันวาคม
แต่แทนที่เรื่องราวของเจ้าเต่าตัวนี้จะจบลงเพียงเท่านั้น ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากที่เจ้าเต่ามาถึงศูนย์ช่วยเหลือ ทีมสัตวแพทย์ กลับต้องพบว่าเจ้าเต่าตัวนี้มีปัญหาสุขภาพรุนแรงแทน เมื่อมันเริ่มขับถ่ายของเสียออกมาเป็นขยะจำนวนมาก ซึ่งรวมไปถึงถุงไนลอนและพลาสติกแข็ง
ลักษณะการขับถ่ายเช่นนี้ เป็นหลักฐานอย่างดีว่าในอดีต เจ้าเต่าได้มีการทานพลาสติกเข้าไปในระหว่างการใช้ชีวิตในทะเล ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสัตว์ทะเลอยู่บ่อยๆ เนื่องจากพวกมัน เข้าใจผิดว่าขยะเป็นอาหาร อย่างแมงกะพรุน พืชในทะเล หรือหนอน
เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้สัตวแพทย์ของทางศูนย์ช่วยเหลือตัดสินใจพาเจ้าเต่าไปทำการตรวจเอ็กซเรย์ ซึ่งทำให้พวกเขาทราบว่าในตัวของเต่าตัวนี้ ยังมีขยะหลงเหลืออยู่อีก นำไปสู่การให้ยาที่ช่วยในการขับถ่ายแก่เจ้าเต่า เพื่อให้ร่างกายของมันขับพลาสติกที่กินเข้าไปออกมาให้หมดในเวลาต่อมา
ในท้ายที่สุด เจ้าเต่าตัวนี้ก็ขับถ่ายเอาขยะออกมาจากร่างกายในปริมาณรวมแล้วราวๆ 13 กรัม ซึ่งเมื่อบวกกับการที่มันได้กลับไปทานอาหารที่สมควรอย่างผักกาดหอมและสาหร่ายทะเล อาการของมันจึงค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้เองจากข้อมูลของทางศูนย์ช่วยเหลือ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 ทางศูนย์ได้รับเต่าทะเลเข้ามาดูแลแล้วถึง 3 ตัว โดยนอกจากเจ้าเต่าตัวนี้แล้ว พวกเขายังมีโอกาสได้ชันสูตรซากเต่าที่มีพลาสติกในระบบทางเดินอาหาร และทำการรักษาเต่าอีกตัวที่กินขยะเข้าไปเช่นเดียวกันด้วย
ซึ่งหากเรามองจากปริมาณของขยะในเต่าที่มีการพบแล้ว เราก็คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าขยะพลาสติกของมนุษย์นั้น สร้างความเสียหายรุนแรงให้แก่สิ่งมีชีวิตในทะเลจริงๆ
ที่มา livescience, foxnews
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น