CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

หนุ่มบราซิลถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉินหลังเจ็บเท้าหนัก แพทย์พบ มี “เส้นขน” ปักอยู่ในเท้า

เป็นเรื่องที่หลายๆ คนทราบกันดีว่า เส้นขนของคนเรานั้นสามารถร่วงไปอยู่ได้ในทุกที่ไม่ว่าเราจะตั้งใจหรือไม่ ถึงอย่างนั้นก็ตามเชื่อว่าคงมีคนไม่มากนักหรอกที่เคยมีประสบการณ์เส้นขนปักเข้าไปอยู่ในเท้า

แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วในเหตุการณ์กรณีศึกษา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Emergency Medicine เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2019 ที่ผ่านมา

 

 

เรื่องราวในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในบราซิลได้ทำการส่งตัวคนไข้ผู้ชายวัย 35 ไปยังห้องฉุกเฉิน หลังจากที่เจ้าตัวมีอาการปวดเท้าอย่างรุนแรง และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากเขาเดิน

ในตอนที่ทำการตรวจสอบเท้าเบื้องต้น ทีมแพทย์ไม่พบอะไรผิดปกติที่เท้าของชายหนุ่ม แถมเขาเองก็ไม่ได้มีประวัติการบาดเจ็บที่เกี่ยวกับเท้าหรือข้อเท้ามาก่อนเลยด้วย

เมื่อแพทย์ผู้ดูแลอาการทดลองให้ชายคนนี้เดินด้วยปลายเท้า และส้นเท้าดู เขาก็บอกว่าตัวเองนั้นมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นเวลาที่เดินด้วยส้นเท้าขวา ดังนั้นแล้วทีมแพทย์จึงตัดสินใจที่จะตรวจสอบส้นเท้าขวาของชายคนดังกล่าวอย่างละเอียดอีกครั้ง

 

 

หลังจากการตรวจสอบเท้าของชายคนนี้ด้วยเลนส์ขยาย พวกเขาก็พบว่าที่ส้นเท้าของชายหนุ่มนั้น มีเส้นผมหรือเส้นขนขนาดราวๆ 10 มิลลิเมตรฝังอยู่ภายใน ซึ่งจากรายงานในปี 2016 เป็นอาการหายากที่ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพียง 26 ครั้งเท่านั้น

อ้างอิงจากทีมแพทย์เมื่อเส้นขนฝังลงในผิว มันจะสามารถ “เคลื่อนที่” ด้วยลักษณะคล้ายกับผื่นรูปงู ที่เกิดจากพยาธิปากขอได้ เพียงแต่ในกรณีของเส้นขน ร่างกายจะไม่แสดงออกเป็นผื่นอย่างชัดเจนก็เท่านั้น

ส่วนสาเหตุที่คนไข้คนนี้ได้รับความเจ็บปวดรุนแรงจากการที่เส้นขนฝังลงบนเท้านั้น เป็นไปได้ว่าจะมาจากการที่เส้นผมดังกล่าวฝังลงไปกระตุ้นปลายประสาทในผิวหนังพอดี จึงส่งผลให้เส้นขนเล็กๆ สามารถนำมาซึ่งความเจ็บปวดแสนสาหัสได้

 

 

ทั้งนี้เองในรายงานของทีมแพทย์ยังได้บอกเอาไว้ด้วยว่า ทันทีที่แพทย์นำเส้นขนออกจากเท้า คนไข้ก็รู้สึกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสามารถออกจากโรงพยาบาลไปได้อย่างปลอดภัย

นี่นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากชิ้นหนึ่งเลย เพราะแม้ว่าอาการนี้จะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นอาการที่หาสาเหตุได้ยาก ซึ่งหากไม่ระวังให้ดีมันก็อาจจะนำไปสู่การวินิจฉัยอาการผิด หรือนำมาซึ่งการที่คนไข้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมได้เช่นกัน

 

ที่มา livescience, nypost


Posted

in

,

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น