CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นาซาพบ “HD74423” ดาวดาวฤกษ์ดวงใหม่รูปร่างคล้ายหยดน้ำ อยู่ห่างออกไป 1,500 ปีแสง

เมื่อเรากล่าวถึงดวงดาวในอวกาศ ตามปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นดาวฤกษ์หรือดาวเคราะห์ เราก็จะนึกถึงก้อนกลมๆ คล้ายลูกบอลขึ้นมาก่อนเป็นอย่างแรก อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าดวงดาวที่เราเห็นอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นวงกลมอย่างที่เราคิดก็ได้

นั่นเพราะจากการค้นพบใหม่ล่าสุด ที่ได้รับการเปิดเผยจากทางนาซา ดูเหมือนว่าดวงดาวบางดวงก็อาจจะมีรูปร่างอื่นๆ ที่ไม่ใช่วงกลมได้เช่นกัน

 

 

ดวงดาวที่กล่าวมานี้มีนามว่า “HD74423” โดยมันเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างออกไปจากโลกราวๆ 1,500 ปีแสง และมีจุดเด่นหลักๆ อยู่ที่ขนาดที่ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 1.7 เท่า และการมีดาวแคระแดงอยู่ใกล้ๆ ซึ่งทำให้พื้นที่บางส่วนของดวงดาวดวงนี้ ถูกดูดเข้าหาดาวแคระแดงจนทำให้มันมีรูปร่างคล้ายกับหยดน้ำไป

HD74423 ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวใหม่ที่ชื่อว่า “Transiting Exoplanet Survey Satellite” หรือ “TESS” ภายใต้ความช่วยเหลือของนักดาราศาสตร์มือสมัครเล่น และได้รับตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy อีกที

 

 

อ้างอิงจากข้อมูลในรายงาน จริงๆ แล้วนักดาราศาสตร์ได้เคยตั้งข้อสันนิษฐานการมีตัวตนอยู่ของดาวที่มีลักษณะแบบ HD74423 มาตั้งแต่ในช่วงปี 1980 แล้ว อย่างไรก็ตามที่ผ่านๆ มาเรากลับไม่เคยพบหลักฐานโดยตรงของดาวรูปหยดน้ำแบบนี้มาก่อนเลย

“พวกเราตามหาดาวแบบนี้มาเกือบ 40 ปี” คุณ Don Kurtz จากมหาวิทยาลัย Central Lancashire หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “และตอนนี้ในที่สุดเราก็พบมันจนได้”

เขาและทีมงานให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหนึ่งในสิ่งที่น่าสนใจของที่สุดของดาวที่เห็นนี้คือองค์ประกอบทางเคมีของมัน โดยดาวที่เห็นนี้ถือว่ามีองค์ประกอบเป็นโลหะต่ำ ทั้งๆ ที่ตามปกติดาวแบบนี้จะมีปริมาณโลหะสูง ทำให้มันกลายเป็นดาวฤกษ์ร้อนที่ถือว่าหาได้ค่อนข้างยากเลย

 

 

ทั้งนี้เองการที่ดวงดาวจะมีการเปลี่ยนรูปร่างไป จากการแกว่งไปมาในระหว่างหมุนนั้น มันเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยๆ ในจักรวาล และเกิดขึ้นแม้แต่กับดวงอาทิตย์ของเราเอง แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะพบกับดวงดาวที่เปลี่ยนรูปร่างไปเพียงด้านเดียวเช่นนี้

และการตรวจสอบ การค้นพบในครั้งนี้เอง ก็อาจจะนำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับดวงดาวที่เราไม่เคยทราบมาก่อนเลยก็ได้

 

ที่มา futurism, foxnews และ newatlas


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น