ย้อนกลับไปในปี 2008 นักโบราณคดีได้ทำการค้นพบเรื่องราวประหลาดแต่ก็น่าสนใจเข้าเรื่องหนึ่ง เมื่อภายในกะโหลกของมนุษย์ร่างหนึ่งจากยุคเหล็กกลับยังคงมีสมองหลงเหลืออยู่ แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 2,600 ปีแล้ว
ซากสมองที่ถูกพบในเวลานั้น ได้รับชื่อว่า “Heslington brain” ตามชื่อหมู่บ้านที่มีการค้นพบ และกลายเป็นที่สนใจของผู้คนในเวลานั้นเป็นอย่างมาก เพราะตามปกติ สมองที่จัดเป็นเนื้อเยื่อที่บอบบางไม่ควรที่จะรักษาสภาพได้ยาวนานเช่นนี้เลย
ความแปลกของสมองที่ถูกพบในเวลานั้น สร้างความแปลกใจให้กับนักวิทยาศาสตร์มากแต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในอดีตกลับไม่มีใครสามารถบอกได้เลยว่าเพราะอะไร Heslington brain จึงสามารถหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันเช่นนี้ได้
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมานี้เอง ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดยคุณ Axel Petzold รองศาสตราจารย์ของสถาบันประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ก็ได้มีการออกมาเปิดเผยว่า พวกเขานั้นสามารถไขปริศนาได้แล้วว่าอะไรกันที่ทำให้ Heslington brain มีความคงทนขนาดนี้
ตามปกติแล้วเมื่อมนุษย์เราตายไป สมองของเราจะเริ่มเน่าจากการถูกเอนไซม์จากสภาพแวดล้อม และจุลินทรีย์ในร่างกายกัดกิน ภายในกระบวนการชื่อ “Autolysis”
แต่ในกรณีของ Heslington brain เอนไซม์เหล่านี้กลับหยุดการทำงานไปก่อนที่จะย่อยสลายสมองเสร็จ ส่งผลให้โปรตีนในสมองไม่ถูกย่อยสลายไปอย่างที่ควร และพับตัวจนเบียดกันแน่นเป็นโครงสร้างแข็งรักษาสภาพสมองไว้ได้แม้เวลาผ่านไปนาน
การพับตัวที่ว่านี้ สำเร็จได้จากเส้นใยสมองสองตัวอย่าง neurofilaments และ glial fibrillary acidic proteins (GFAP) ที่ทำงานรวมกันคล้ายรากไม้ และทำให้สมองที่หดลงคงสภาพอยู่ได้ โดยที่ไม่พังทลายไปก่อนนั่นเอง
อย่างไรก็ตามการทดลองในครั้งนี้กลับนำมาซึ่งทำถามใหม่เกี่ยวกับ Heslington brain ด้วย นั่นเพราะแม้เราจะทราบว่า Heslington brain สามารถรักษาสภาพไว้ได้จากการพับตัวของโปรตีนในสมอง แต่เรากลับไม่อาจทราบได้เลยว่าทำไมกัน จู่ๆ เอนไซม์ที่น่าจะกัดกินสมองอันนี้ถึงหยุดลงก่อนเวลาอันควรได้
อ้างอิงจากในงานวิจัย ในตอนที่การฝังเจ้าของร่าง Heslington brain นั้น ผู้รับหน้าที่ฝังศพไม่ได้มีการนำศพไม่ผ่านกระบวนการเก็บรักษาใดๆ เป็นพิเศษเลย
ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงคาดกันว่าการหยุดทำงานก่อนเวลาอันควรของเอนไซม์นี้อาจจะเกิดขึ้นได้จากการที่ของเหลวที่เป็นกรดไหลขึ้นสมองในตอนที่เจ้าของร่างตายก็เป็นได้ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เราก็ต้องมาสงสัยกันอีกว่าเจ้าของเหลวที่เป็นกรดที่ว่านี้มาจากไหนกัน
และแม้ว่าเราจะไขปริศนาที่ว่าทำไม Heslington brain จึงมีความคงทนขนาดนี้ได้เลยก็ตาม แต่สุดท้ายเจ้าสมองชิ้นนี้ก็ยังคงนับว่าเป็นอะไรที่น่ามหัสจรรย์เอามากๆ อยู่ดี นั่นเพราะมันแทบจะไม่มีโอกาศเลยที่สมองของคนคนหนึ่งจะ ไม่ถูกเอนไซม์กัดกิน พับตัวด้วยวิธีพิเศษ แถมยังถูกฝังในที่ที่แห้งพอที่จะไม่ถูกทำลายไปก่อนเช่นนี้
ที่มา gizmodo และ livescience
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น