ปัญหาโลกร้อนถือเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจ เพราะในปัจจุบันมันส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการใช้ชีวิตของเหล่ามนุษย์อย่างเห็นได้ชัด
ไม่ว่าจะเห็นปรากฎการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นทั้งน้ำท่วม พายุเข้า หรือแม้แต่ไฟป่าที่รุนแรงขึ้นมากกว่าในอดีตหลายเท่าตัว ก็มักจะมีให้เราได้เห็นกันอยู่เป็นประจำ
อีกผลกระทบหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือ ‘น้ำแข็ง’ ที่อยู่ในทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ กำลังละลายหายไปอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น และอาจมีเหตุต่างๆ เกิดขึ้นอีกตามมาในภายหลัง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมา องค์กรการบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) ได้เผยแพร่ภาพที่น่าตกใจ
เป็นภาพถ่ายทางอากาศของเกาะนกอินทรี ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้คาบสมุดที่อยู่ทางเหนือสุดของทวีปแอนตาร์กติกา ใกล้ฝั่งประเทศชิลี
ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ต้องเผชิญกับอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นไปแตะหลัก 20 องศาเซลเซียส เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาสถานที่แห่งนี้ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง และมีอุณหภูมิติดลบอยู่ตลอด
จากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ส่งผลให้น้ำแข็งและหิมะที่ปกคลุมเกาะนกอินทรีอยู่ละลายหายไปหลายจุด ซึ่งทาง NASA เองได้นำภาพจากสถานที่เดียวกันที่ถ่ายไว้มุมเดียวกัน แต่คนละวัน
ภาพด้านซ้ายถ่ายเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ส่วนภาพด้านขวาถ่ายเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์
นอกจากนี้รอบๆ ก็มีแอ่งน้ำสีฟ้าขนาดใหญ่โผล่ขึ้นมาบนธารน้ำแข็ง ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าเกิดจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะ สืบเนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนั่นเอง
ทางด้านนาย Mauri Pelto ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธารน้ำแข็ง จากวิทยาลัย Nichols ที่ทำการเฝ้าสังเกตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนมาโดยตลอดกล่าวว่า
“ผมไม่เคยเห็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อนเลยในแอนตาร์กติกา แม้ว่าจะเคยเห็นที่รัฐอะแลสกาประเทศสหรัฐ หรือเกาะกรีนแลนด์ประเทศเดนมาร์ก แต่ไม่เคยคิดเลยว่ามันจะเกิดขึ้นที่แอนตาร์กติกาด้วย”
“หิมะบนเกาะนกอินทรีละลายลงอย่างรวดเร็วเมื่อช่วงวันที่ 6-11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ความหนาของมันหายไป 10.6 เซนติเมตร ซึ่งความหนาขนาดนี้นับเป็น 20% ของหิมะที่ตกทั้งฤดูกาลเลยทีเดียว”
ที่มา : NASA
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น