CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

นักวิทยาศาสตร์พบ “ฝุ่นอวกาศ” ในหิมะที่แอนตาร์กติกา อาจเกิดจากซูเปอร์โนวาในอดีต

เมื่อเราพูดถึง “ฝุ่น” สำหรับหลายๆ คนแล้วมันก็คงเป็นแค่สิ่งสกปรกที่หาได้แทบทุกที่ในโลกและไม่มีอะไรที่น่าสนใจเป็นพิเศษ

แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์ในสถานีวิจัย Kohnen ของประเทศเยอรมนีในแถบแอนตาร์กติกาแล้ว ของที่ที่หลายๆ คนมองข้ามอย่างฝุ่นนั้นอาจจะมีค่ากว่าที่คิดก็เป็นได้…

นั่นเพราะทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการสำรวจหิมะใกล้ๆ สถานีวิจัย และพวกเขาก็ได้พบว่าในหิมะนั้นมีฝุ่นอวกาศจากซูเปอร์โนวาปะปนอยู่ด้วย

 

สถานีวิจัย “Kohnen” ที่มีการเก็บตัวอย่างหิมะ

 

อ้างอิงจากข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ ฝุ่นอวกาศที่ในครั้งนี้ถูกพบอยู่ในตัวอย่างหิมะ 500 กิโลกรัม เก็บมาจากในพื้นที่ใกล้เคียงสถานี มีสภาพค่อนข้างสดใหม่ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ฝุ่นอวกาศเหล่านี้ จะเพิ่งตกลงมาบนโลกไม่ถึง 20 ปี

โดยภาพในหิมะที่เก็บมานักวิทยาศาสตร์ได้พบกับไอโซโทปกัมมันตรังสีอ่อนๆ สองชนิด ประกอบไปด้วย “Iron-60” และ “Manganese-53”

ทั้งสองสามารถพบได้จากฝุ่นที่เกิดจากซูเปอร์โนวา จากการที่รังสีคอสมิกปะทะกับฝุ่นระหว่างดาวเคราะห์ และจากน้ำมือมนุษย์ในบางกรณีอย่างนิวเคลียร์

 

ภาพจำลองของฝุ่นอวกาศของมหาวิทยาลัยฮาวายเมื่อปี 2018

 

ในกรณีของฝุ่นที่ถูกพบในครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า Iron-60 นั้นมีปริมาณสูงกว่า Manganese-53 มากซึ่งทำให้ข้อสันนิษฐานเรื่องฝุ่นระหว่างดาวเคราะห์ตกไป แถมเมื่อตรวจสอบตัว Iron-60 แล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าไอโซโทปเหล่านี้ไม่ได้มาจากนิวเคลียร์ด้วย

ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงค่อนข้างมั่นใจว่าฝุ่นอวกาศที่พบนั้น น่าจะมีที่มาจากเมฆระหว่างดาวซึ่งเกิดจากซูเปอร์โนวาอีกที แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่อาจฟันธงได้ว่า ซูเปอร์โนวาที่เป็นต้นเหตุของฝุ่นที่พบเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่

 

 

หากข้อสันนิษฐานของนักวิทยาศาสตร์เป็นจริง การตรวจสอบฝุ่นอวกาศที่พบต่อไปก็อาจจะสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจที่มีและลักษณะของเมฆระหว่างดาว และผลกระทบที่มีต่อระบบสุริยะอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็เป็นได้

 

ที่มา space, foxnews และ sciencealert


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น