“ฌ็อง-ปอล มารา” (Jean-Paul Marat) สำหรับหลายๆ คนแล้ว นี่คงจะไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูสักเท่าไหร่ แต่สำหรับคนในฝรั่งเศส หรือกลุ่มคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสแล้ว เรื่องราวของชายคนนี้ จะเป็นอะไรที่น่าสนใจเอามากๆ เลย
เพราะนี่คือเรื่องราวของชายผู้ที่เป็นโรคผิวหนัง จนต้องใช้ชีวิตอยู่ในอ่างอาบน้ำ แต่กลับสามารถชักจูงประชาชนในการปฏิวัติฝรั่งเศสได้โดยอาศัยเพียงงานเขียน และเป็นหนึ่งในคนที่มักจะถูกนักประวัติศาสตร์มองว่าเป็นหนึ่งในตัวการหลักที่ทำให้การปฏิวัติครั้งนี้ กลายเป็นเหตุนองเลือดอย่างไม่น่าเชื่อเลยด้วย
เรื่องราวก่อนการปฏิวัติ
ฌ็อง-ปอล มารา เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1743 โดยเขาใช้ชีวิตวัยเด็กใน เมืองบูดรี ราชรัฐเนอชาแตล ในราชอาณาจักรปรัสเซีย (สวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน) ก่อนที่จะออกจากบ้านไปเมื่ออายุได้ 16 ปี
เขาเป็นคนที่มีการศึกษาสูง มีความรู้ความสามารถทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ โดยเขามีแม้แต่ งานวิจัยร่วมกับเบนจามิน แฟรงคลิน และเคยมีโอกาสเป็นถึงแพทย์ของขุนนาง
แต่แม้เขาจะมีฝีมือในด้านนี้ก็ตาม น่าเสียดายที่ดูเหมือนว่างานสายนี้ จะไม่ใช่สิ่งที่ ฌ็อง-ปอล ได้ใช้เวลาทั้งชีวิต เพราะในปี 1788 ฌ็อง-ปอล ก็ต้องผันตัวไปเป็นนักเขียนแทน โดยไม่นานหลังจากนั้น เขาก็ได้เริ่มตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ของตัวเอง ในฐานะผู้สนับสนุนประชาชน ภายในการปฏิวัติฝรั่งเศส
ฌ็อง-ปอล มารา กับการปฏิวัติฝรั่งเศส
ตั้งแต่ในปี 1789 เป็นต้นมา ฌ็อง-ปอล ได้เริ่มทำการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่ชื่อว่า L’Ami du Peuple หรือ “สหายของประชาชน” ซึ่งช่วยทำให้เขามีเส้นสายกับกลุ่มสโมสรฌากอแบ็ง ผู้นำการต่อต้านระบอบกษัตริย์ในประเทศ และทำให้งานพิมพ์ของเขากลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของชนชั้นล่างและชั้นกลางไป
ปัญหาคือแนวทางความคิดของฌ็อง-ปอลนั้น ออกจะเป็นฝ่ายซ้ายแบบสุดโต่งมากเกินไปอยู่บ้าง ซึ่งทำให้เมื่อบวกกับแนวคิดของเขาที่ว่าเหล่าชนชั้นสูงเป็นอันตรายต่อการปฏิวัติ งานเขียนส่วนใหญ่ของเขาจึงมีลักษณะที่ปลูกฝังความเกลียดชัง ไม่ต่างอะไรกับการบอกให้ประชาชนฆ่าชนชั้นสูงทิ้งก่อนจะถูกชนชั้นสูงฆ่าเลย
บทความของเขาตามปกติแล้วอาจจะดูสุดโต่งเกินกว่าจะน่าเชื่อถืออยู่บ้าง แต่ในฝรั่งเศสซึ่งในเวลานั้นกำลังร้อนเป็นไฟ นี่กลับเป็นบทความที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และทำให้การปฏิวัติที่เต็มไปด้วยความรุนแรงอยู่แล้วครั้งนี้ ทวีความรุนแรงแบบสุดๆ เข้าไปอีก
“ศีรษะมนุษย์ห้าหรือหกร้อยหัวที่ถูกตัดออกไป จะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าคุณจะได้รับอิสรภาพและความสุขจริงๆ มนุษยธรรมจอมปลอมได้ค่อยเหนียวรั้งมือของคุณให้หยุดโจมตี เพราะสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้พี่น้องนับล้านของคุณต้องจากโลกนี้ไป” ฌ็อง-ปอล มารากล่าวกับผู้อ่าน
การตัดสินใจนี้ ทำให้คนที่มีศัตรูอยู่เยอะเป็นทุนเดิมแล้วอย่างเขา มีศัตรูเยอะขึ้นอีกอย่างนับไม่ถ้วน ถึงขนาดที่ว่าในช่วงปี 1790-1792 เขาต้องหนีไปอยู่ในท่อน้ำทิ้งและทำให้อาการโรคผิวหนังของเขาลุกลามจนหลังจากเวลานั้นมา เจ้าตัวแทบจะต้องใช้ชีวิตการทำงานและพบปะผู้คนจากในอ่างน้ำใส่ยารักษาโรคผิวหนังเลย
ฌ็อง-ปอล มารา หลังโค่นล้มระบอบกษัตริย์
เรื่องราวของชายคนนี้ ดำเนินไปถึงจุดสูงสุด ในตอนที่โค่นล้มระบอบกษัตริย์ได้สำเร็จ และสโมสรฌากอแบ็งมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกเป็นสองขั้วหลัก “ฝ่ายลามงตาญ” (La Montagne) และ “ฝ่ายฌีรงแด็ง” (Girondin) เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกันเอง
โดยในเวลานั้น ฌ็อง-ปอลได้ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายลามงตาญซึ่งเป็นฝ่ายหัวรุนแรงและหวังจะถอนรากถอนโคนระบอบกษัตริย์ให้หมด ซึ่งในเวลาต่อมาฝ่ายนี้เริ่มได้เปรียบในการชิงอำนาจทางการเมืองขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นสั่งประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้สำเร็จ
แต่แทนที่ การประหารในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ มันกลับส่งผลให้เกิดโทษมากกว่า นั่นเพราะประเทศเพื่อนบ้านของฝรั่งเศส (ซึ่งยังคงปกครองด้วยระบอบกษัตริย์) ไม่พอใจเป็นอย่างมากกับการประหารพระเจ้าหลุยส์ดังนั้นพวกเขาจริงได้เริ่มที่จะรุกรานฝรั่งเศส ด้วยกำลังทหาร
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนในประเทศเริ่มถูกเกณฑ์ไปรบ และไม่นานหลังจากที่ฝ่ายลามงตาญได้เขาบริหารประเทศอย่างแท้จริง ใครก็ตามที่ทำอะไรที่ดูเป็นการสนับสนุนชนชั้นสูงแม้แต่น้อย ก็จะถูกส่งตัวไปตัดหัวในทันที เรียกได้ว่าประเทศฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติก็ไม่ได้ดีขึ้นจากเดิมสักเท่าไหร่นัก
กลับกันการกระทำในรูปแบบนี้ แน่นอนว่าทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สนับสนุนฝ่ายฌีรงแด็งมาก่อน ซึ่งหนึ่งในนั้นเอง ก็รวมไปถึงหญิงสาวนามว่า “มารี-อาน ชาร์ล็อต เดอ กอร์แด ดาร์มง” (Marie-Anne Charlotte de Corday d’Armont) ด้วย
จุดจบของนักเขียน
ชาร์ล็อต กอร์แด มองว่าคนที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงและการขึ้นครองอำนาจของบฝ่ายลามงตาญในประเทศนั้น ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากฌ็อง-ปอล มารา
ดังนั้น ด้วยการตัดสินใจอันเด็ดขาด หญิงสาวจึงได้ตัดสินใจออกเดินทางจากบ้านเกิดไปยังปารีส และทำการติดต่อไปหาฌ็อง-ปอลโดยบอกว่าตัวเองมีรายชื่อของ “ศัตรู” ของฝ่ายลามงตาญ ที่จะมีการลุกฮือขึ้นในอนาคต
ข้อเสนอนี้ได้รับความสนใจจากตัวฌ็อง-ปอลเองมาก ทำให้เขาตัดสินใจพบกับเธอในช่วงบ่ายของวันที่ 13 กรกฎาคม ในขณะที่เจ้าตัวยังคงแช่อยู่ในอ่างน้ำเพื่อรักษาอาการโรคผิวหนังอยู่
ในขณะที่ฌ็อง-ปอล มารา อ่านรายชื่อของคนที่เป็นศัตรูของฝ่ายลามงตาญอยู่นั้นเอง ชาร์ล็อตก็อาศัยช่วงเวลานี้ใช้มีดแทงอกของนักเขียนจนถึงแก่ความตาย ก่อนที่เจ้าตัวจะถูกจับไม่นานหลังจากก่อเหตุ
เธอถูกประหารต่อหน้าสาธารณชนในอีก 4 วันหลังจากนั้นด้วยวัยเพียง 24 ปีด้วยเครื่องกิโยตีน โดยหญิงสาวได้ทิ้งคำพูดเอาไว้ว่า “ฉันฆ่าคนไป 1 คนเพื่อช่วยคนอีกนับแสน”
เรื่องราวหลังจากนั้น
สิ่งเดียวที่ชาร์ล็อต กอร์แด ไม่ได้ทราบเลยในตอนที่สังหารฌ็อง-ปอล มารา คือการกระทำของเธอนั้น ไม่ได้ทำให้ชื่อเสียงของฌ็อง-ปอลเสียหายอย่างที่เธอหวังเลย เพราะการถูกลอบสังหารในช่วงเวลาตรึงเครียดเช่นนี้ ได้ทำให้ฌ็อง-ปอลได้รับการเชิดชู ราวกับว่าเป็นนักบุญของฝ่ายลามงตาญแทน
เรียกได้ความความตายของเขาในเวลานั้น ได้ทำให้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงพลังอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถึงขนาดที่ว่าฝ่ายลามงตาญได้มีการทำรูปปั้นของเขาเอาไว้ในโบสถ์รูปแบบใหม่ของประเทศเลย
และกว่าที่ฝรั่งเศสจะหลุดพ้นจากอำนาจและการปกครองด้วยความหวาดกลัวของฝ่ายลามงตาญจริงๆ มันก็หลังจากนั้นอีกหลายปีเลย
ที่มา britannica, nndb และ heritage-history
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น