ในช่วงเวลาประมาณ 1.00 น. ของวันที่ 28 เมษายน 2017 ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เกิดเหตุลูกไฟขนาดเล็กพุ่งผ่านฟากฟ้า และกลายเป็นที่สนใจของคนที่มีโอกาสได้เห็นลูกไฟดังกล่าวเป็นอย่างมาก
ในเวลานั้นทางประเทศญี่ปุ่นพบว่าลูกไฟที่เห็นนั้น เกิดขึ้นจากเศษอุกกาบาตขนาดเล็กที่มีขนาดเพียง 2.7 เซนติเมตร ซึ่งเผาไหม้ไปจนหมดในชั้นบรรยากาศและแน่นอนว่าไม่มีอันตรายใดๆ ต่อคนในพื้นที่
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มของลูกไฟเมื่อ 2 ปีในของฐานข้อมูลอุกกาบาตอย่าง SonotaCo ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดเพิ่มเติมออกมาแล้ว…
โดยระบุว่าเศษอุกกาบาตในปี 2017 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอุกกาบาตขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อโลกได้ในอนาคต (อันห่างไกล)
อ้างอิงจากทีมนักวิทยาศาสตร์ อุกกาบาตที่พวกเขาพูดถึงนั้นมีชื่อว่าอุกกาบาต “2003 YT1” ซึ่งถูกพบเป็นครั้งแรกในปี 2003 เป็นดาวเคราะห์น้อยคู่ซึ่งประกอบไปด้วยหินขนาด 2 กิโลเมตร ที่มีอุกกาบาตขนาด 210 เมตรลอยอยู่รอบๆ
อุกกาบาต 2003 YT1 นั้น มีโอกาสราวๆ 6% ที่จะพุ่งชนโลกในอีก 10 ล้านปีข้างหน้า ซึ่งทำให้มันถูกระบุว่าเป็น “วัตถุที่อาจเป็นอันตราย” แม้ว่าพวกเราคงจะไม่มีโอกาสได้เห็นมันในชีวิตนี้
สิ่งที่น่าสนใจของ 2003 YT1 คือมันไม่ได้พุ่งผ่านโลกในปี 2017 ดังนั้นจึงไม่มีใครคาดคิดว่าเศษอุกกาบาตของมันจะตกลงมาบนโลก
และกว่าที่นักวิจัยจะทราบว่าลูกไฟนี้มีความเกี่ยวข้องกับ 2003 YT1 พวกเขาก็ต้องทำการคำนวนย้อนกลับของลูกไฟในอดีตเป็นเวลานานเลย
นักวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันพวกเขายังไม่อาจแน่ใจได้ว่าเพราะเหตุใดอุกกาบาตในปี 2017 จึงแยกตัวออกมาจาก 2003 YT1 ได้
แต่พวกเขาก็สันนิษฐานว่า อุกกาบาตขนาดเล็กชิ้นนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของกระแสฝุ่นขนาดใหญ่ที่พุ่งออกมาจาก 2003 YT1 ก็เป็นได้
ทั้งนี้รายงานดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านกระบวนการพิชญพิจารณ์ โดยแบบร่างของตัวรายงานนั้น สามารถเข้าถึงแบบออนไลน์ได้ในวารสาร arXiv ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 2019 ซึ่งหากเพื่อนๆ สนใจ ก็สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเองได้ ที่นี่
ที่มา livescience, arXiv และ newshub
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น