“ไวรัส” นี่เป็นชื่อที่ไม่ว่าใครได้ยินก็คงจะรู้สึกกลัวไว้ก่อน ดังนั้นแล้วสำหรับหลายๆ คน นี่อาจจะไม่ใช่ข่าวที่ดีสักเท่าไหร่ นั่นเพราะเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ออกมาประกาศการค้นพบไวรัสชนิดใหม่มากจำนวนมาก ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ขนาดซึ่งใหญ่กว่าไวรัสปกติหลายเท่า
ไวรัสขนาดใหญ่ที่ถูกพบในครั้งนี้ เป็นไวรัสในกลุ่มที่มีชื่อเรียกว่า “แบคเทอริโอเฟจ” (Bacteriophages) โดยมันเป็นไวรัสที่ต้องอาศัยอยู่กับเซลล์ของแบคทีเรียเพื่อการเติบโตและเพิ่มจำนวน ซึ่งตามปกติถูกพบได้ในแหล่งน้ำจืด อย่างบ่อน้ำร้อน แม่น้ำ หรือทะเลสาบน้ำจืดทั่วโลก
พวกมันถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในตอนที่นักวิทยาศาสตร์ออกเก็บตัวอย่าง DNA จากสภาพแวดล้อมต่างๆ ร่วม 30 รูปแบบจากทั่วโลก ซึ่งก็มีตั้งแต่ตัวอย่างน้ำในบ่อน้ำร้อนที่ทิเบต เครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพที่แอฟริกาใต้ ไปจนถึงสารในลำไส้ของกวางที่อะแลสกา
ที่นั่นพวกเขาพบกับแบคเทอริโอเฟจ 351 ชนิด ซึ่งในอดีตไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อน และมีขนาดใหญ่กว่าไวรัสทั่วไปโดยเฉลี่ยถึง 4 เท่า
ที่สำคัญคือในบรรดาแบคเทอริโอเฟจเหล่านี้ ไวรัสตัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดยังมีจีโนมมากถึง 735,000 คู่ ซึ่งทำให้มันมีขนาดใหญ่กว่าแบคเทอริโอเฟจปกติถึง 15 เท่า ซึ่งทำให้แทนที่เราจะเรียกมันเป็นไวรัสซึ่งจัดเป็นสิ่งไม่มีชีวิต เจ้าแบคเทอริโอเฟจตัวนี้ควรจะเรียกว่าอยู่ “ก้ำกึ่ง” ระหว่างไวรัสกับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กแบบแบคทีเรียเลย
ภาพของแบคเทอริโอเฟจที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (Subject 26) เมื่อเทียบกับไวรัสตัวอื่นๆ และแบคทีเรียที่เป็นเหยื่อ
ความก้ำกึ่งเช่นนี้ ถูกยืนยันให้เห็นได้ชัดขึ้น จากการที่แบคเทอริโอเฟจที่ถูกพบนี้ยังมีการเข้ารหัสยีนสำหรับโปรตีนที่นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้จัก ซึ่งพวกเขาคิดว่ายีนเหล่านี้อาจจะถูกใช้งานในตอนที่มันเข้าไปในตัวแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียทนทานต่อไวรัสอื่นๆ เพื่อกำจัดคู่แข่ง และทำให้การขยายพันธุ์ที่ดีขึ้น ซึ่งตามปกติไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ไวรัสทำเลย
ทั้งนี้เอง ด้วยความที่ว่าไวรัสที่ถูกพบในครั้งนี้ เป็นไวรัสที่มีเหยื่อเป็นแบคทีเรีย ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบคเทอริโอเฟจที่ถูกพบหลายๆ ตัวนั้น จะไม่มีอันตรายกับมนุษย์ แต่ถึงอย่างนั้นไวรัสเหล่านี้เองก็ใช่ว่าจะปลอดภัยไปหมดเลยเสียทีเดียวเช่นกัน
นั่นเพราะในบางครั้งเมื่อไวรัสเหล่านี้เข้าไปแพร่กระจายในตัวแบคทีเรีย ในหลายๆ ครั้งพวกมันก็จะมีการปรับแต่งแบคทีเรียที่พวกมันเข้าไปอาศัยอยู่ ส่งผลให้บางครั้งแบคทีเรียดังกล่าวก็อาจจะมีเมแทบอลิซึม ความต้านทานยาปฏิชีวนะ หรือลักษณะอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในกรณีเลวร้ายที่สุดมันอาจจะทำให้เกิดโรคในสัตว์หรือมนุษย์ได้
และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมกัน นักวิทยาศาสตร์จึงต้องทำการตรวจสอบแบคเทอริโอเฟจ ที่ดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์เลยนั่นเอง
ที่มา livescience, sciencealert และ nature
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น