ในปัจจุบัน ปัญหาพลาสติกในทะเล ถือว่าเป็นเรื่องที่โด่งดังเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถึงแม้ว่าเราจะ “ทราบ” ถึงปัญหาพลาสติกในทะเลกันเป็นอย่างดีก็ตาม ในความเป็นจริงปัญหาขยะพลาสติกในทะเลกลับไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นเท่าที่มันควรจะเป็นเลย
อย่างเมื่อล่าสุดนี้เอง นักวิจัยจาก กรมการบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ ก็ได้มีการออกมาเปิดเผยการค้นพบชิ้นใหม่ ที่ฟังแล้วน่าเศร้าอย่างไรน่าเชื่อว่า
ในปัจจุบัน “จุดอนุบาลลูกปลา” นอกชายฝั่งที่ฮาวาย กำลังต้องประสบปัญหาจากขยะพลาสติกอย่างหนัก จนจำนวนขยะพลาสติก มีมากกว่าลูกปลาในพื้นที่ในอัตรา 7 ต่อ 1 แล้ว
ตัวเลขที่ออกมานี้เป็นผลจากการที่ทีมนักสำรวจเข้าตรวจสอบจุดอนุบาลลูกปลาตามธรรมชาติที่เรียกกันว่า “Slicks” ซึ่งเป็นจุดที่น้ำทะเลไหลค่อนข้างนิ่ง ทำให้พื้นที่นี้เต็มไปด้วยแพลงก์ตอน และล่อให้ลูกปลาชนิดต่างๆ เข้ามาหาอาหารเป็นจำนวนมาก
แต่แทนที่นักวิทยาศาสตร์จะได้ทำการสำรวจแพลงก์ตอน ในพื้นที่ตามเป้าหมายเดิมของพวกเขา สิ่งที่พวกเขาได้พบเมื่อมีการใช้แหตรวจสอบกลับเป็นขยะพลาสติกทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวนมากมายมหาศาลแทน
จำนวนพลาสติกที่มากมายขนาดนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ท่องทะเลอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยขยะเท่านั้น แต่นักวิทยาศาสตร์ยังทำการค้นพบอีกว่า มีลูกปลาจำนวนไม่น้อยเลย ที่คิดว่าขยะขนาดเล็กในทะเลเป็นเหยื่อ และหลงกิน “อาหาร” เหล่านี้เข้าไป
จริงอยู่ว่าด้วยหลักฐานในการทดลองที่มีอยู่อย่างจำกัด ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จะยังไม่สามารถบอกได้ว่าขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อประชากรปลาในพื้นที่หรือไม่ แต่นักวิทยาศาสตร์หลายๆ ฝ่ายก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าการที่ปลากินพลาสติกที่ไร้ซึ่งสารอาหารเช่นนี้เข้าไป ย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ
ที่สำคัญคือแม้ว่านักสำรวจชุดนี้จะทำการสำรวจพื้นที่เพียงแค่จุดเล็กๆ จุดเดียวในมหาสมุทรเท่านั้น แต่ทีมนักวิจัยกลับค่อนข้างมั่นใจเลยว่า ด้วยปริมาณของพลาสติกที่พวกเขาพบ มันจะความเป็นไปได้สูงมากที่จุดอนุบาลลูกปลาอื่นๆ ในโลกก็จะเต็มไปด้วยพลาสติกแบบนี้เช่นกัน
และในกรณีที่เป็นเช่นนั้นจริงๆ มันก็คงจะไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลยที่จะบอกว่าอนาคตของลูกปลาในมหาสมุทรทั่วโลก กำลังตกอยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย
ที่มา pnas, sciencenews, bbc
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น