การเหยียดเชื้อชาติหรือการเหยียดผิว มันยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายสังคม หลายๆ ประเทศ เป็นผลจากการที่คนปิดกั้น ไม่ยอมรับความแตกต่าง หรืออาจมองว่าคนเชื้อชาติอื่นนั้นอยู่ต่ำกว่าพวกตน
ความคิดในลักษณะนั้นได้ส่งผลกระทบต่อความไม่เท่าเทียมในสังคม ซึ่งชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน Obadele Kambon คือผู้ที่เคยต้องตกเป็นเหยื่อของพฤติกรรมในลักษณะนั้น…
และนั่นก็ทำให้เขาตัดสินใจย้ายออกจากสหรัฐอเมริกา
การถูกจับกุมจากความผิดที่ไม่ได้ก่อ
ในปี 2007 ตอนนั้นนาย Obadele ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวจับกุมตัวด้วยข้อหา “พกพาอาวุธบรรจุกระสุนไว้ในรถ มีเป้าหมายเพื่อยิงในระหว่างขับรถ”
แต่ในความเป็นจริง ปืนที่เขาพกพาเอาไว้ไม่ได้บรรจุกระสุน และมันยังถูกเก็บไว้ที่กระโปรงท้ายรถ ไม่ได้เก็บไว้ในตัวรถอย่างที่ตำรวจคนนั้นกล่าวอ้าง ซึ่งเขาพกไว้เพื่อใช้ป้องกันภัยในตอนที่ไปตั้งแคมป์มาเมื่อก่อนหน้านี้
Obadele ถึงกับอึ้งไปเลยหลังจากที่ได้ยินศาลพูดถึงข้อกล่าวหาดังกล่าว ในตอนนั้นเขาคิดแต่เพียงว่า…
“นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เราจะไม่ยอมให้ใครมาใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อยัดเยียดข้อหาจากตำรวจผิวขาว ไม่ยอมให้ศาลต้องมาพรากเราจากครอบครัว ภรรยา และลูกๆ จากความผิดที่ไม่ได้ก่อไปอีกเป็นอันขาด”
แม้ในเวลาต่อมา Obadele จะได้รับการยกฟ้องในทุกข้อกล่าวหา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาคิดที่จะอยากอยู่ในประเทศนี้อีกต่อไปแล้ว
การเริ่มต้นชีวิตใหม่ในดินแดนที่เปรียบเสมือนบ้าน
ในปี 2008 ชายหนุ่มที่ตอนนั้นทำอาชีพเป็นครูในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เขาตัดสินใจเก็บเงินให้ครบ 30,000 ดอลลาร์ฯ หรือราว 917,000 บาท พา Kala ผู้เป็นภรรยาย้ายไปอยู่ที่เมืองอักกรา เมืองหลวงของประเทศกานา
สถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ของเขา แต่ในความคิดของ Obadele นั้นที่นี่เปรียบเหมือนกับบ้านที่แท้จริง เป็นบ้านที่เขาควรมาใช้ชีวิตอยู่ตั้งนานแล้ว
“ตั้งแต่ผมย้ายมา ผมก็ไม่เคยต้องรู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อของการโดนเหยียดเชื้อชาติ หรือการถูกคุกคามอีกเลย”
เขาได้สร้างครอบครัว มีลูก 3 คนด้วยกันกับภรรยาที่นี่
ความรู้สึกของเขานั้นก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะตัวเขาเองก็เป็นชาวอเมริกันที่มีเชื้อสายแอฟริกัน การที่เขาได้กลับมายังประเทศในแอฟริกาใต้นั้น มันก็เหมือนกับว่าเขาได้กลับมาอยู่ในถิ่นกำเนิดของตัวเอง
เพื่อนของเขาคนหนึ่งที่ย้ายตามมาอยู่ที่ประเทศกานาด้วยก็ถึงกับพูดว่า…
“ว้าว!! นี่มันทำให้ฉันรู้สึกราวกับเป็นคนขาวในสหรัฐอเมริกาเลยนะ เราสามารถใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่ต้องกังวลอะไร ไม่ต้องกลัวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา”
ความตั้งใจที่จะล้มล้างการเหยียดสีผิวให้หมดไปจากกานา
จากเหตุการณ์ที่เขาเคยเจอมาในอดีต ชายหนุ่มจึงรู้สึกเกลียดการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดสีผิวเป็นอย่างมาก เขาจึงต้องการกำจัดความคิดเหล่านั้นให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง โดยเริ่มต้นจากในประเทศกานา
เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา เขาคือหนึ่งในนักวิชาการที่เป็นผู้นำการรณรงค์ ให้ทางมหาวิทยาลัยกานา รื้อถอนอนุสาวรีย์วีรบุรุษของชาวอินเดีย มหาตมะ คานธี
เหตุการณ์นั้นเกิดจากความเชื่อที่ว่า คานธีนั้นเป็นคนเหยียดผิวอย่างชัดเจน ซึ่งเคยมีหลักฐานว่างานเขียนของในช่วงวัยหนุ่มนั้นเคยมีการกล่าวถึงคนผิวสีว่าเป็นพวก “คนป่า” และ “พวกไม่มีศาสนา”
เพราะอย่างนั้น Obadele และผู้ร่วมอุดมการณ์คนอื่นๆ จึงเสนอเรื่องและทำการรื้อถอนอนุสาวรีย์ดังกล่าวออกไปในที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่อาจตามมาในภายหลัง
แต่ประเทศกานา ก็มีบางอย่างที่เขาคาดไม่ถึง
ย้อนกลับไปในปี 2009 Obadele ได้ศึกษาปริญญาเอกทางด้านภาษาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยกานา ทำให้ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์ในสถาบัน Institute of African Studies
แม้ว่าเดิมทีเขาจะเติบโตในสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากที่เขาได้ย้ายมา เขาก็เริ่มมีความสนใจกับประเพณี วัฒนธรรม ภาษาท้องถิ่น รวมไปถึงเรื่องของจิตวิญญาณของคนแอฟริกันที่แท้จริง
แต่ความสนใจของเขานั้นกลับทำให้ชาวกานาคนอื่นๆ มองว่าเขาเป็นพวกคลั่งในลัทธิศาสนา ทั้งๆ ที่เขามองว่าจิตวิญญาณของชาวแอฟริกันโดยแท้จริงนั้นมันคือรากเหง้าของทุกคนในทวีปนี้เลย
ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะ Obadele ยังรู้สึกตกใจทุกครั้งที่ได้รู้ว่า เด็กๆ ชาวกานาหลายๆ คนที่มีพื้นเพมาจากชนเผ่า Akan ชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกานา แต่กลับไม่รู้จักภาษา Twi ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมของพวกเขา
“สิ่งเหล่านั้นมันทำให้ผมรู้สึกราวกับว่าชาวแอฟริกันไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขามีเชื้อชาติเป็นของตัวเอง”
ถึงอย่างไร เขาก็ยังหวังให้คนเชื้อสายแอฟริกันทุกคนกลับมาบ้านเกิด
นอกเหนือจากการเป็นคุณพ่อและคุณครูแล้ว Obadele ก็ยังเป็นหนึ่งในผู้นำแนวคิดสนับสนุนให้คนเชื้อสายแอฟริกันทุกคน ย้ายกลับมารวมตัวกันที่ทวีปแอฟริกา
นั่นเพราะเขามองว่าการที่ต้องเห็นคนผิวสีทนทุกข์กับการเหยียดผิว หรือต้องรับผิดจากสิ่งที่ไม่ได้ก่อนั้น มันเป็นเรื่องที่เลวร้ายอย่างมาก
เขาจึงเชื่อว่าหากคนเหล่านั้นได้กลับมายังแอฟริกาถิ่นกำเนิดแล้ว พวกเขาจะไม่ต้องเจอกับความโหดร้ายในลักษณะนั้นอีกต่อไป และชาวแอฟริกันทุกคนก็ยินดีต้อนรับพวกเขาอยู่เสมอ
เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น