ยังคงเป็นภัยพิบัติที่สร้างผลกระทบอย่างหนักให้กับผู้คนในเขตแอฟริกาตะวันออก เมื่อฝูง ‘ตั๊กแตนทะเลทราย’ หลายแสนล้านตัวบุกถล่มพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน
สำหรับภัยพิบัติดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว ทว่าในปี 2020 นี้ความรุนแรงของมันถือได้ว่าทวีคูณกว่าปีก่อนๆ ที่ผ่านมามาก
หนักถึงขั้นที่ว่าเลวร้ายที่สุดในรอบ 25 ปีเลยทีเดียว
ฝูงตั๊กแตนจำนวนมากทำลายพืชผลทางการเกษตร กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน แม้แต่ในพื้นที่เก็บอาหารเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย นำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหารในหลายๆ พื้นที่
องค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ก่อนหน้านี้ประชาชนหลายล้านคนในเขตแอฟริกาตะวันออกต้องประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร และครั้งนี้พวกเขายังต้องรับศึกใหญ่จากฝูงตั๊กแตน
โดยฝูงตั๊กแตนจำนวนมหาศาลนั้นสามารถพบได้มากในประเทศเอธิโอเปีย, เคนยา และโซมาเลีย ปัจจุบันก็ยังลุกลามไปถึงคองโก, คูเวต, บาห์เรน, กาตาร์ และอีกหลายๆ พื้นที่
ก่อนหน้านี้ในเดือนมกราคม 2020 ทาง FAO ได้เรียกร้องให้ภาครัฐร่วมมือกันทุ่มงบประมาณราว 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,400 ล้านบาท) ในการควบคุมและจัดการกับปัญหาดังกล่าว
แต่เนื่องจากกระบวนการที่ล่าช้า ทำให้ ณ ตอนนี้ FAO คาดการณ์ว่าจำเป็นต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 138 ล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 4,400 ล้านบาท) ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและควบคุมปัญหา ซึ่งถือว่ามากกว่าเดิมเกือบเท่าตัว
Mark Lowcock ผู้อำนวยการ FAO กล่าวว่า…
“ตั๊กแตนทะเลทรายเหล่านี้จะกินอาหารในปริมาณที่เทียบเท่ากับน้ำหนักตัวของพวกมัน แล้วลองคิดดูว่ามีพวกมันมากถึงหลายแสนล้านตัว
วงจรของตั๊กแตนเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 3 เดือน ปัจจุบันพวกมันเริ่มวางไข่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว และในอีกไม่กี่สัปดาห์ตั๊กแตนรุ่นใหม่ก็จะถือกำเนิดขึ้น ในไม่ช้าพวกมันก็จะกางปีกบินหาอาหาร กลายเป็นภัยพิบัติที่เลวร้ายกว่าเดิม”
เพราะอย่างนั้น ทาง FAO จึงพยายามกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ภัยพิบัตินี้ส่งผลในระยะยาว และอาจรุนแรงจนลามไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ได้ด้วย
เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น