ถ้ายังจำกันได้ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) คือหนึ่งในก๊าซมลพิษทางอากาศหลักๆ ที่เกิดจากการใช้รถบนท้องถนน รวมไปถึงโรงงานต่างๆ แถมมันยังเป็นสารตั้งต้นตัวสำคัญของฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย
เรียกง่ายๆ ก็คือปริมาณของ NO2 ในอากาศลดลง ย่อมทำให้สภาพอากาศโดยรวมดีขึ้น และเหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ เช่น จีน อิตาลี สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ตัวอย่างระดับมลพิษทางอากาศที่ลดลงในจีน
อ่านข่าวเก่าได้ที่ลิงก์: NASA เผยภาพ “มลพิษทางอากาศในจีนลดฮวบ” เพราะไวรัส COVID-19 ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน
อีกหนึ่งแห่งที่ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันนี้ก็คือ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อสื่อต่างประเทศจำนวนมากต่างรายงานถึงผลการวิจัยที่กล่าวว่า “ระดับมลพิษทางอากาศของเมืองนี้ลดลงจากเดิมไปกว่าครึ่ง”
ศูนย์บรรยากาศศาสตร์แห่งชาติ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจาก เครือข่ายคุณภาพอากาศกรุงลอนดอน และพบว่ามลพิษทางอากาศในเมืองนี้เริ่มลดระดับลงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่ผ่านมา
เส้นสีเขียวคือระดับมลพิษทางอากาศช่วงปี 2015-2019, เส้นสีฟ้าคือในปี 2020
โดยจากการศึกษาและเปรียบเทียบกับเมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ (มกราคม-มีนาคม) ของตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าระดับมลพิษทางอากาศในกรุงลอนดอนนั้นลดลงไปจากเดิมถึงราวๆ 50% เลยทีเดียว
และสิ่งนี้ก็ยังสามารถยืนยันได้จากภาพถ่ายดาวเทียมของทาง องค์การอวกาศยุโรป ที่เผยว่าระดับมลพิษทางอากาศในปีนี้น้อยกว่าช่วงเดือนมีนาคมของปีก่อนๆ มากจริงๆ
พวกเขายังบอกอีกว่าระดับมลพิษอากาศที่ลดลงนั้นไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงโรม และมิลาน ประเทศอิตาลี ณ เวลานี้เลย
คลิปแสดงระดับมลพิษทางอากาศที่ลดลงในยุโรป
Traffic and pollution levels across Europe have dropped amid the #COVIDoutbreak. @DescartesLabs processed data from #Sentinel5P satellite and compared it to March 10-22 of last year. Here's what they found: pic.twitter.com/YoLx2Cm90p
— Pattrn (@pattrn) March 25, 2020
ศาสตราจารย์ Alastair Lewis จากศูนย์บรรยากาศศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบหลังจากที่ผู้คนลดการใช้รถใช้ถนน
เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า ช่วงเวลานี้หลายๆ ประเทศต่างใช้นโยบายกักตัว ให้ผู้คนอยู่แต่ในบ้าน และสิ่งนั้นเองก็คือสาเหตุที่ทำให้เกิดการลดลงของมลพิษทางอากาศดังที่รายงานไปข้างต้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกังวลก็คือ จะมีวิธีการไหนที่จะรักษาสภาพอากาศในระดับนี้เอาไว้ได้หรือไม่? เพราะเชื่อว่าหากสถานการณ์ COVID-19 ผ่านพ้นไป มลพิษทางอากาศจะกลับมาเลวร้ายอย่างรวดเร็ว
เรียบเรียงโดย #เหมียวตะปู
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น