คำเตือน บทความนี้อาจมีภาพที่ค่อนข้างรุนแรงโปรดใช้วิจารณญาณในการชม
สำหรับนักอนุรักษ์ ในพื้นที่เกาะโกฟ แหล่งมรดกโลกแห่งแอตแลนติกตอนใต้ พวกเขาไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่กับภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และภาวะโลกร้อนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงปัญหาที่ไม่น่าเชื่อ ซึ่งเกิดจากหนูในพื้นที่อีกด้วย
นั่นเพราะแตกต่างไปจากหนูตามบ้านของผู้คนที่เราอาจจะรู้จักกันดี หนูที่เกาะโกฟนั้น ขึ้นชื่อเรื่องความดุร้าย ถึงขนาดที่ว่าพวกมันบุกเข้าโจมตีนกท้องถิ่นอย่าง “อัลบาทรอส” และกัดกินพวกมันทั้งเป็นเลยทีเดียว
อ้างอิงจาก ราชสมาคมเพื่อการคุ้มครองนกของอังกฤษ (RSPB) การที่หนูโจมตีนกบนเกาะนั้น เกิดขึ้นมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว อย่างไรก็ตามในช่วงหลังๆ มาความถี่ของเหตุการณ์นี้ ได้เพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง เพราะจากที่หนูจะโจมตีแค่ลูกนก ในปัจจุบันพวกมันได้เริ่มกัดกินแม้แต่นกอัลบาทรอสที่โตเต็มวัยแล้วด้วย
พวกเขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าหนูที่โจมตีนกเหล่านี้ เป็นหนูบ้านสายพันธุ์ Mus musculus ซึ่งเดิมทีแล้วไม่ใช่สัตว์ในพื้นที่เอง แต่ติดมากับเรือของมนุษย์ในช่วงปี 1700
ซึ่งด้วยความที่พวกมันเป็นสัตว์ต่างถิ่นเช่นนี้เอง ก็ทำให้พวกมันสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วมาก และทำให้นกทะเลในท้องถิ่นอย่างนกทริสทันอัลบาทรอส (Diomedea dabbenena) มีจำนวนลดลงไปจนเกือบสูญพันธุ์
โดยในปี 2018 ทาง RSPB ได้พบว่าหนูต่างถิ่นเหล่านี้ ทำให้ประชากรลูกนกและไข่ของนกอัลบาทรอสลดลงโดยเฉลี่ยถึง 2 ล้านหน่วยต่อปีเลย
นี่นับว่าเป็นสถานการณ์ที่อันตรายต่อนกอัลบาทรอสบนของโลกเป็นอย่างมาก เพราะในปัจจุบันนกทริสทันอัลบาทรอสกว่า 99% ของโลกนั้น ล้วนแต่มาจากเกาะโกฟ ทั้งสิ้น
ดังนั้นทาง RSPB จึงได้ตัดสินใจขั้นเด็ดขาดที่จะกำจัดหนูบนเกาะด้วยการวางยาพิษแบบพิเศษที่ส่งผลเฉพาะกับสัตว์ฟันแทะแบบหนูเท่านั้น ภายในปี 2020 ที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตามวิธีการนี้เอง ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่จำเป็นจะต้องให้งบประมาณมากกว่าที่คิด ดังนั้นทาง RSPB จึงได้ตัดสินใจเปิดรับบริจาคเงิน เพื่อดำเนินโครงการนี้ ซึ่งหากเพื่อนๆ สนใจช่วยเหลือลูกนกอัลบาทรอสบนเกาะ เพื่อนๆ ก็สามารถเข้าไปร่วมบริจาคเงินกันได้ ที่นี่
ที่มา goughisland, livescience และ smithsonianmag
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น