CatDumb – แคทดั๊มบ์ | เล่าเรื่องน่าสนใจให้คุณฟังง่ายๆ พร้อมคอนเทนต์พิเศษบ้างเป็นบางเวลา…

พบ “M. plenovenatrix” สิ่งมีชีวิตเมื่อ 500 ล้านปีก่อน ญาติเก่าแก่ของแมงมุมกับแมงป่อง

รถถังมีหนามเดินได้ ที่มีลูกตาอยู่บนหัวและโล่อยู่ที่ก้น นี่คือคำอธิบายที่น่าสนใจของ สิ่งมีชีวิตโบราณสายพันธุ์ใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ออนแทรีโอ ทำการเผยแพร่ออกมาในงานวิจัยเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา

แม้ว่าคำอธิบายเหล่านี้จะฟังดูแปลกอยู่บ้าง แต่มันก็เป็นสิ่งที่ใช้อธิบายรูปร่างอันเป็นเอกลักษณ์ของ “Mollisonia plenovenatrix” สิ่งมีชีวิตใต้น้ำจากยุคแคมเบรียน เมื่อ 500 ล้านปีก่อนได้เป็นอย่างดี

 

 

M. plenovenatrix แม้จะมีขนาดแค่ราวๆ นิ้วโป้งของมนุษย์ แต่มันก็มีร่างกายที่หุ้มด้วยเปลือกแบบมีหนามแทบทั้งตัวสมชื่อรถถังเดินได้ โดยมันมีดวงตาขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายไข่อยู่ที่หัว มีเปลือกขนาดใหญ่อยู่ที่บั้นท้าย มีขาจำนวนมากที่ออกแบบมาสำหรับเดินใต้ท้องทะเล และมีปากเป็นก้ามที่พร้อมฉีกเหยื่อเป็นชิ้นๆ

สิ่งมีชีวิตตัวนี้ เดิมทีแล้วถูกนักวิทยาศาสตร์ค้นพบครั้งแรกตั้งแต่เมื่อราวๆ 100 ปีก่อน โดยที่ยังไม่มีการตั้งชื่อ เนื่องจากในเวลานั้นนักวิทยาศาสตร์ค้นพบแค่เปลือกของมัน ซึ่งมีลักษณะคล้ายสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ในยุคเดียวกัน

 

 

อย่างไรก็ตามตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฟอสซิลของ M. plenovenatrix กลับค่อยๆ ถูกค้นพบมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรวมไปถึงการค้นพบเนื้อเยื่อส่วนปาก ขาจำนวนมาก และดวงของมัน ทำให้ในที่สุดมันก็ได้รับการจัดตั้งให้เป็นสายพันธุ์ใหม่อย่างเป็นทางการ

แต่แม้จะมีจุดเด่นที่เกราะก็ตาม ในทางวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญกลับให้ความสนใจกับก้ามที่ปากของ M. plenovenatrix เป็นพิเศษมากกว่าส่วนตัวของมัน เนื่องจากอวัยวะชิ้นนี้จัดว่าเป็นอวัยวะประเภท “Chelicerae” ที่สามารถพบได้ในสัตว์ไฟลัมย่อย “เชลิเซอราตา” ซึ่งรวมไปถึงแมงมุมหรือแมงป่องในปัจจุบัน

 

 

นั่นหมายความว่าฟอสซิลของ M. plenovenatrix อาจถูกจัดว่าเป็นสัตว์ที่มีปากแบบ Chelicerae ที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์เคยพบมาเลยก็ว่าได้

ซึ่งแม้ว่ามันอาจจะไม่ใช่สัตว์ตัวแรกที่วิวัฒนาการปากแบบนี้ขึ้นมา แต่มันก็นับว่าเป็นบรรพบุรุษเก่าแก่ของสัตว์ในไฟลัมเชลิเซอราตา และเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญของขั้นตอนการวิวัฒนาการสัตว์ในกลุ่มนี้เลยนั่นเอง

 

 

ที่มา livescience, miragenews, cbc และ nature


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น